บางกอก เชน เล็งเปิดสาขาใหม่ สปป.ลาว

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

บางกอก เชน เล็งเปิดสาขาใหม่ สปป.ลาว

บางกอก เชน บุกต่างประเทศ เตรียมเปิดตัว “เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์” ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 บวกเดินแผนขยายสาขาต่อเนื่อง ปักธงพัทยาลำดับต่อไป พร้อมประกาศความสำเร็จ “เกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี” กระแสตอบรับดี หนุนสร้างรายได้เป็นบวกในปีแรก ตั้งเป้าปีนี้เติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 10%

คุณกันตพร หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH 

คุณกันตพร หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ว่า บริษัทมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ที่ สปป.ลาว ขนาด 110 เตียง ภายในวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นสาขาแรกในต่างประเทศของบริษัท

โดยปัจจุบัน บริษัทมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ซึ่งในส่วนของอาคารโรงพยาบาลได้มีการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่ อุปกรณ์บางประเภทได้มีการจัดส่งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึง มีความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าว นับว่าล่าช้าจากเดิมที่ได้กำหนดว่าจะเปิดตัวในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่สามารถนำเข้าไปได้

“แต่เดิมโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ควรจะมีการเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเปิดตัวได้ในช่วงเวลาที่กำหนด เนื่องจาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือสิ่งที่จำเป็นในการเปิดโรงพยาบาลไม่สามารถนำเข้าไปได้ เพราะจะต้องมีการกักตัวเจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลา 14 วัน ขณะที่ขากลับจะต้องมีการกักตัว 14 วัน ซึ่งทำให้เสียเวลาในการกักตัวเกือบหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม เรามีแผนที่จะเปิดตัวให้ได้ภายในวันที่พฤษภาคมนี้ เพราะการไม่เปิดให้บริการนับเป็น FIX COST ที่จะต้องใช้จ่าย ซึ่งหากสามารถเปิดให้บริการได้ จะทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่ม” คุณกันตพรกล่าว

สำหรับแผนการขยายสาขาในอนาคต คือ การเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่พัทยา ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท เส้นทางหลักในการสัญจรไปยังพัทยา โดยปัจจุบัน บริษัทมีที่ดินรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดงบลงทุนในการดำเนินการประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าใช้แบรนด์ เกษมราษฏร์ หรือ เวิล์ดเมดิคอล รวมถึง การศึกษารูปแบบการก่อสร้างโรงพยาบาล ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการขออนุญาตการก่อสร้าง ส่วนการก่อสร้างจะดำเนินการในปี 2565 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2566

ขณะที่ แผนการขยายสาขาโรงพยาบาลในระยะยาว บริษัทจะมีเกณฑ์การพิจารณาหลัก ดังนี้ 1.จังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นคู่แข่ง 2.จังหวัดที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนที่มีศักยภาพ หรือตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นด่านที่มีการสัญจรของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจาก บริษัทจะได้ลูกค้าชาวไทยแล้ว ยังได้ลูกค้าต่างชาติอีกด้วย และ 3.จำนวนประชากรในพื้นที่และดีมานด์ต่างๆ

“เรามีประสบการณ์จากโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ เชียงราย ซึ่งเปิดให้บริการมานาน เป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย ดังนั้นจึงเกิดเป็นโมเดลว่า ถ้าเรามีโรงพยาบาลอยู่ในจังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนหลักของประเทศ ซึ่งจะมีดีมานด์ของลูกค้าต่างชาติเป็นจำนวนมาก จะช่วยทำให้เรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” คุณกันตพรกล่าว

คุณกันตพร กล่าวต่อถึงกระแสตอบรับของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี ขนาด 115 เตียง ซึ่งได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยใช้งบในการดำเนินการกว่า 600 ล้านบาท ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นทางผ่านของจังหวัดสระแก้วและต่อเนื่องมาที่ปราจีนบุรี ก่อนที่จะเชื่อมไปยังฉะเชิงเทรา โดยถือเป็นเส้นทางที่ผู้คนต้องเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร

ขณะเดียวกัน บริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ตั้งอยู่หลายแห่ง และมีผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก โดยแต่ละโรงงานมีบุคลากรหลายหมื่นคน รวมถึง สิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดรับประกันสังคม ส่วนนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ผลตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดี

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี จะรองรับกลุ่มคนทำงานชาวต่างชาติและผู้ใช้สิทธิประกันสังคม โดยตั้งเป้าหมายผู้ใช้ประกันสังคมสมัครใช้สิทธิกับเครือโรงพยาบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ประมาณ 40,000 ราย ส่วนทั้งปีคาดว่าจะมีจำนวน 50,000 - 70,000 โดยตัวเลขของเดือนมกราคมที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 ราย ทั้งนี้ หากเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะส่งผลให้รายได้ในปีแรกเป็นบวก ขณะเดียวนับตั้งแต่เปิดให้บริการมามีคนไข้ชาวญี่ปุ่นมาใช้บริการแล้วกว่า 60 คน

ด้านภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 ซึ่งมีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือ การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งส่งผลให้คนไข้ปกติของโรงพยาบาลลดลง 30% โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องรับยาเป็นประจำ ดังนั้น บริษัทจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

รวมถึง การให้บริการคนไข้ที่บ้าน เช่น การเจาะเลือด และการตรวจสุขภาพ การบริการส่งยาให้แก่คนไข้ที่รับยาเป็นประจำที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง และในพื้นที่ต่างจังหวัด ผ่านทางแมสเซ็นเจอร์ หรือไปรษณีย์ โดยปัจจุบันบริษัทสามารถพัฒนาการส่งยาที่ต้องอยู่ในความเย็นได้ภายใน 2-3 วัน โดยที่ยายังคงมีประสิทธิภาพและไม่เสื่อมก่อนถึงมือคนไข้

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการทำกายภาพบำบัดที่บ้าน พร้อมทั้ง มีบริการฉีดวัคซีนที่บ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำ สำหรับรูปแบบการบริการหลายอย่างที่เกิดขึ้นมาใหม่เพื่อมุ่งจะตอบโจทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้ง ยังถือเป็น New Normal ของหลายๆ โรงพยาบาลที่ต้องมีการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คนไข้ปกติจะลดจำนวนลง แต่ในส่วนของคนไข้ Covid-19 กลับเพิ่มขึ้นมาแทน โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจคัดกรอง โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการตรวจคัดกรองคนไข้เพื่อหาเชื้อ Covid-19 ไปแล้วกว่า 100,000 คน ซึ่งในส่วนนี้เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัท อีกทั้ง ยังเป็นรายได้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังเป็นส่วนที่เข้ามาชดเชยรายได้จากกลุ่มคนไข้ปกติที่หายไป

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของ State Quarantine หรือ การทำสถานที่แยกกักที่รัฐจัดหาให้ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่โรงแรม ดังนั้นจึงต้องมีการร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนหลายโรงพยาบาล โดยต้องเข้าไปให้การดูแลผู้ที่ต้องเดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นการสร้างรายได้อีกทางของบริษัทเช่นกัน

อีกทั้ง ยังเป็นที่มาของโครงการโรงพยาบาลกักแยก (Hospital Quarantine) โดยในส่วนนี้จะใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกันกับ State Quarantine เพียงแค่ผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาต้องไม่เป็น Covid-19 โดยจะเป็นผลดีต่อคนไข้เดิมที่เป็นชาวต่างชาติของบริษัทให้สามารถเดินทางเข้ามาทำการรักษาต่อได้ ซึ่งถือเป็นการกักตัวพร้อมรักษาอาการป่วยควบคู่กันไป และสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอีกทางหนึ่ง

คุณกันตพร กล่าวต่อว่า ในปี 2563 บริษัทมีการเติบโตประมาณ 2 หลัก และนับเป็นผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่ยังคงกำไรให้เติบโตได้ ขณะที่ปี 2564 บริษัทตั้งเป้าเติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 10% โดยวิธีการการปรับตัวหรือการรับมือต่างๆ แบบ New Normal ที่กล่าวไปข้างต้น จะเป็นตัวช่วยที่ส่งผลให้รายได้ของบริษัทสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย