62 ปีแห่งการสถาปนา “มจพ.”

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

62 ปีแห่งการสถาปนา “มจพ.”

มจพ. สถาปนาครบรอบ 62 ปีตอกย้ำมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน การันตีความเชื่อมั่นด้วยผลงานเด่น พร้อมเผยแผนการดำเนินงานปี 2564 มุ่งเน้นผลักดันตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปี บวกโชว์ความสำเร็จคว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) 

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า ในปี 2564 มจพ. สถาปนาครบรอบ 62 ปี โดยการพัฒนาของ มจพ. ถือได้ว่าเป็นที่น่าพึงพอใจในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็น มิติด้านวิชาการ มิติด้านการพัฒนาบุคลากร และมิติด้านการยอมรับ โดยปัจจุบัน มจพ. ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง ผลงานวิจัยต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งในระดับนานาชาติ และระดับโลก อีกทั้ง ในปัจจุบันมหาวิยาลัยยังมีศาสตราจารย์มากกว่า 30 ท่าน

“ปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวไป ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความแข็งแกร่งของ มจพ. กว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา และความโดดเด่นในด้านต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาบุคลากร การพัฒนางานวิจัยจนนำไปสู่การยอมรับในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผลงานดีเด่นของคณะครู อาจารย์ ที่ได้รับมา ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นมุมมองที่เรามองว่ามีความยั่งยืน และต้องเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี” ศ.ดร.สุชาติกล่าว

โดย ปัจจุบัน มจพ. ติดอันดับ TOP TEN มหาวิทยาลัยไทยและติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก และล่าสุด QS Subject Ranking 2021 ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆ โดย มจพ. คว้าอันดับ 1 ของการจัดอันดับ Domestic Rank จากสาขา Mathematics และเป็นอันดับที่ 451-500 ของโลก

อีกทั้ง ยังได้รับการยอมรับทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี เช่น โครงการดาวเทียม “แนคแซท” ซึ่ง มจพ. นับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ส่งดาวเทียมออกไปยังอวกาศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. ถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากของ มจพ. โดยได้มีการพัฒนาเอง 100% และในปัจจุบันได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึง เปิดการเรียนการสอนเพื่อรองรับภาควิศวกรรมอวกาศยาน ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ขณะเดียวกัน  ภาคอุตสาหกรรมได้ให้การสนับสนุน พร้อมทั้งเข้ามาร่วมมือกับ มจพ. หลายบริษัท

รวมถึง โครงการที่ มจพ. ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอาเค่น ประเทศเยอรมนี เพื่อเปิดหลักสูตรปริญญาโทร่วม สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมององค์ความรู้ที่เป็นชั้นสูงมากขึ้น เป็นการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมเชิงอนาคต ที่ต้องพัฒนาในเรื่องระบบขนส่งทางราง

ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ดังนั้น มจพ. จึงได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นออนไลน์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จะยังคงการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติไว้ โดยอาจจะปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และภายใต้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้ได้มากที่สุด รวมถึง แผนในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยจะขยับมาเป็นช่วงประมาณปลายปี 2564 ส่วนการประชุมวิชาการเน้นออนไลน์เป็นหลักเช่นเดียวกัน

ด้านแผนการดำเนินงานในปี 2564 มจพ. ยังคงเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องจึงได้มีการจัดทำแผนงานในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม จะยังคงยึดมั่นและเชื่อมโยงตามเป้าหมายของแผนระยะ 20 ปี ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การพัฒนาบุคลากร และจำนวนนักศึกษา

ปัจจุบัน มจพ. อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 12 ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี รวมถึง ผลงานด้านการวิจัยของ มจพ. เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น สำหรับมิติด้านวิชาการ ได้เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เป็นอินเตอร์มากขึ้น โดยมี 4 หลักสูตรที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ได้แก่ หลักสูตรด้านไอที หลักสูตรระบบราง หลักสูตรด้านไฟฟ้ากำลัง และหลักสูตรด้าน Economic

ขณะเดียวกัน ในปี 2564 มจพ. ปักธงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยด้าน Reinventing Universities โดยจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี ซึ่ง มจพ. ได้ดำเนินการปรับโครงการใหญ่ๆ ที่มองว่าเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ โครงการ Robotic, โครงการดาวเทียม และโครงการระบบราง ปัจจุบัน จึงพยายามผลักดันให้เกิดการร่วมมือกับหลายหน่วยงาน รวมถึงบูรณาการในทุกๆ หลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้เข้ากับ 3 ด้านดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดการยอมรับในภาคอุตสาหกรรมทั้งระดับชาติ และนานาชาติ

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรม มจพ. จึงได้จัดตั้ง “KMUTNB Technology Park” เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและการให้บริการวิชาการที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างครบวงจร ด้วยทิศทางที่ชัดเจนมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน และใช้ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้วยหลักการสมัยใหม่ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของ มจพ. ได้ โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในกลางปี 2565

อีกทั้ง ในอนาคตคาดว่าจะมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพไปที่วิทยาเขตย่อยเพื่อให้เกิดการพัฒนาและมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับวิทยาเขตระยองซึ่งจะตรงกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยเป็นพื้นที่ EEC มีอุตสาหกรรมรองรับ มจพ. โดยได้สร้างศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์เพื่ออุตสาหกรรม (มาบตาพุด) ขณะที่ วิทยาเขตปราจีนบุรีได้เตรียมพื้นที่สำหรับรองรับโครงการใหญ่ๆ อีกมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ มจพ. กรุงเทพฯ อาจจะมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ แต่จะมุ่งเน้นที่ Advance Technology รวมถึง การเป็นศูนย์รวมเพื่อสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อถึงความสำเร็จในโอกาสที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ว่า รางวัลดังกล่าวนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากทั้งในส่วนของตนเอง และในนามของ มจพ. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ มจพ. มีบุคลากรที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ที่ตรงตามความต้องการ และยังสอดคล้องกับด้านที่เข้มแข็งของ มจพ. โดยมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อมหาวิทยาลัย คือ การวิจัย นอกเหนือจากการเรียนการสอน

“การเป็นบุคลากรในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ งานวิจัยถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น พร้อมทั้ง มีส่วนช่วยในการปรับการเรียนการสอน ช่วยให้เกิดการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกัน สิ่งนี้ยังตอกย้ำเอกลักษณ์ของ มจพ. ให้มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ คือ “การเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรมผ่านงานวิจัย” ศ.ดร.สุชาติกล่าว