รพ.ขอนแก่น คว้ารางวัลจาก สพร. 6 ปีซ้อน

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

รพ.ขอนแก่น โชว์ผลงานเยี่ยม คว้ารางวัลจาก สพร. 6 ปีซ้อน

รพ.ขอนแก่นตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินงาน ด้วยรางวัลจาก สพร. ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 พร้อมตั้งเป้าหมายขอรับการรับรองแบบก้าวหน้า บวกอัพเดทความคืบหน้าการก่อสร้างอาคาร 298 เตียง ใกล้แล้วเสร็จ หนุนเสริมแกร่งการบริการ เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานให้แก่ทีมแพทย์และพยาบาล ประกาศความพร้อมรับมือโควิด-19 เต็มร้อยในทุกๆ ด้าน ชูวิสัยทัศน์ปี 2564 เน้นการทำงานแบบเป็นทีมเวิร์ค

พญ.นาตยา มิลส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น

พญ.นาตยา มิลส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว ว่าโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่กว่า 7 ทศวรรษ โดยรางวัลที่น่าชื่นใจสำหรับการสร้างศรัทธาให้แก่ประชาชนมากที่สุด คือ การรักษามาตรฐานคุณภาพความปลอดภัย ซึ่งได้รับรางวัลการรับรองคุณภาพความปลอดภัยของโรงพยาบาลจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สพร.) ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 หรือ 18 ปี สะท้อนถึงการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการการเรียนรู้ และการปรับปรุงในทุกๆ ด้าน  

สำหรับความท้าทายต่อไปในช่วง 3 ปีนับจากนี้ไป (2564-2566) โรงพยาบาลตั้งเป้าหมายที่จะขอรับการรับรองในระดับที่ยาก หรือการรับรองแบบก้าวหน้า โดยมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและความปลอดภัยที่ยากมากขึ้นในทุกมิติ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ จะต้องไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น และจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

พญ.นาตยา กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคาร 298 เตียง ว่า ปัจจุบันใกล้แล้ว โดยเป็นอาคารความสูง 8 ชั้น ใช้งบประมาณ 339 ล้านบาท (ไม่รวมอุปกรณ์การแพทย์และครุภัณฑ์) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โรงพยาบาลยังขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เตียงคนไข้ พร้อมทั้งได้เปิดให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมบริจาค

สำหรับวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเพื่อทดแทนอาคารเดิม 4 ชั้น ที่มีอายุการใช้งานมายาวนานกว่า 60 ปี และสอดคล้องกับวัฒนธรรมของโรงพยาบาล คือ ไม่มีเตียงเต็มและไม่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย รวมถึง การเพิ่มศักยภาพการบริการ การดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีสถานที่สวยงามกว้างขวางและไม่แออัดเช่นเดิม อีกทั้ง ยังสร้างความคล่องตัวในการทำงานให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

“หากอาคารพักผู้ป่วย 298 เตียงมีการเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ ทั้งในภาวะของโรคระบาดติดเชื้อและในภาวะปกติ จะเป็นอาคารที่ตอบโจทย์การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเป็นอย่างมาก โดยชั้นบนสุดทั้งชั้นจะสร้างเป็นห้องความดันลบ นอกจากจะทำให้บุคลากรมีความมั่นใจในความปลอดภัยและการให้บริการแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจว่าจะไม่การติดเชื้อซึ่งกันและกันอีกด้วย” พญ.นาตยากล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลขอนแก่นยังได้มีการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการมาโดยตลอด ด้วยการก่อสร้างศูนย์ต่างๆ เช่น ศูนย์หัวใจแบบครบวงจร โดยมีห้องผ่าตัด Hybrid แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ศูนย์มะเร็งแบบครบวงจร สำหรับการทำคีโม โดยปัจจุบันมีเครื่องฉายแสง 2 เครื่องที่มีความทันสมัยและใหม่ล่าสุด, ศูนย์ทารกแรกเกิด และศูนย์อุบัติเหตุดูแลคนไข้ครบวงจร เป็นต้น

พญ.นาตยา กล่าวต่อว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการบริหารจัดการ รวมถึงศักยภาพของแต่ละประเทศในการเตรียมตัวรับมือ โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยถือได้ว่ามีการรับมือจัดการภัยพิบัติโรคระบาดครั้งนี้เป็นอย่างดีมาก สามารถควบคุมจัดการได้ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ จนกระทั่งถึงแพทย์ พยาบาลและผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลขนาดใหญ่

สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่นได้มีการปรับตัวตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งได้มีการสร้างห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) เพิ่มเป็นกว่า 30 ห้อง จากเดิมที่มีประมาณ 10 ห้อง ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีมาก รวมถึง ได้การมีการเตรียมพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยหายใจ และอื่นๆ

ขณะเดียวกันในส่วนของบุคลากรได้มีการฝึกอบรม เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมและมีศักยภาพในการรับมือโรคระบาดได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการคัดกรองผู้ที่มาใช้บริการอย่างเข้มข้น เช่น การใส่หน้ากากอนามัย, การวัดไข้, การล้างมือ, การซักถามอาการและประวัติ รวมถึง การคัดแยกอาการผู้ป่วย เป็นต้น

ตนคาดว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 น่าจะเริ่มคลี่คลายในปีนี้ เพราะขณะนี้เรามีวัคซีน อย่างไรก็ตาม การมีวัคซีนไม่ได้หมายความว่าเมื่อได้รับการฉีดแล้วจะไม่เป็นโรค แต่เมื่อเป็นโรคแล้วความรุนแรงของโรคจะน้อยลง โดยประชาชนทุกคนจะต้องให้ความสำคัญในการรับวัคซีน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะมีการปิดเมือง หรือปิดประเทศตลอดไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยธุรกิจส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึง ประเทศชาติต้องเดินหน้าต่อไป

“พร้อมทั้งฝากถึงทุกคนว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีวัคซีนแล้ว แต่การรักษาวิถี NEW NORMAL ยังคงเป็นเรื่องที่ควรตระหนัก เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากอนามัย หรือ การล้างมือให้สะอาด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยป้องกันได้หลายโรค ไม่ใช่เฉพาะแค่โควิด-19 เท่านั้น” พญ.นาตยากล่าว

ด้านวิสัยทัศน์ในการบริหารงานในปี 2564 จะเน้นการทำงานแบบเป็นทีมเวิร์ค เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพเป็นจำนวนมาก โดยจะดำเนินการให้แต่ละฝ่ายมีการสื่อสาร พูดคุย แสดงความคิดเห็นเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน ทั้งนี้ การทำงานเป็นทีมเวิร์คจะส่งผลให้เกิดพัฒนาในทุกๆ ด้าน อีกทั้ง ยังทำให้การทำงานขององค์กรเดินหน้าและราบรื่นไปได้ด้วยดี