กรมการแพทย์ ชูการดำเนินงานปี 65 มุ่งเป็น Open Platform

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

กรมการแพทย์ ชูการดำเนินงานปี 65 มุ่งเป็น Open Platform พัฒนาทิศทางโรงพยาบาล

กรมการแพทย์ เผยแผนการดำเนินงานปี 2565 มุ่งเป็น Open Platform เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ต่อยอดการให้บริการทุกที่ทุกเวลา พร้อมขานรับนโยบายกระทรวง ดูแลคนไข้แบบ VIP เตรียมขับเคลื่อนทุกโรงพยาบาลในสังกัดเป็น Smart Hospital ภายในปี 2565

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมาความท้าทายต่อการดำเนินงานของกรมการแพทย์คงหนีไม่พ้นเรื่องของโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ จะมีเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ ประกอบกับต้องทำงานในระบบราชการที่มีกฎระเบียบมากมาย ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว กรมการแพทย์จึงต้องปรับตัวให้เป็น Open Platform โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดเชิญชวนบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข อาทิ กลุ่มตัวแทนผู้ป่วย ภาคประชาสังคม หรือ NGO เข้ามาเป็นกรรมการกำกับทิศของโรงพยาบาล เพื่อวางทิศทางการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มารับการรักษาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

สำหรับปี 2565 การดำเนินงานของกรมการแพทย์จะเป็นการต่อยอดจากปีที่ผ่านมา คือการให้บริการทุกที่ทุกเวลา ผนวกกับการดูแลคนไข้แบบ VIP ที่เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยเราตั้งเป้าว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดจะต้องเป็น Smart Hospital ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งคนไข้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลใดในสังกัดกรมการแพทย์ จะสามารถดูประวัติการรักษาต่างๆ ของตนเองได้บนมือถือผ่าน ระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR)

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ให้คนไข้สามารถดาวน์โหลด ลงทะเบียน เพื่อดูข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพของตนเอง และยังสามารถ Telemedicine คุยกับแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ หรือรักษาโรคที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาลได้ โดยโรงพยาบาลจะทำการจัดส่งยาไปให้ตามอาการของคนไข้ทางไปรษณีย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดการรอคอยให้คนไข้ได้มากขึ้น

          นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการดูแลคนไข้แบบ VIP กรมการแพทย์จะมุ่งปรับปรุงทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด โดยเฉพาะ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.OPD หรือผู้ป่วยนอก ที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดูสวยงามขึ้น เพื่อให้คนไข้ผู้มารับบริการรู้สึกผ่อนคลาย ไม่แออัด ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงในส่วนนี้แล้ว 2.IPD หรือผู้ป่วยใน จะมีการติดเครื่องปรับอากาศ พร้อมเครื่องระบายอากาศที่ดีทุกห้อง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมเปลี่ยนความรู้สึกของคนไข้ให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และ 3.อาหารของคนไข้ จะปรับปรุงเรื่องของเวลาในการเสิร์ฟ เพื่อให้คนไข้ได้ทานอาหารที่ร้อน ใหม่ และตรงเวลา โดยในการปรับปรุงเรื่องอาหารเราจะใช้คอนเซ็ปต์ 3 ข้อ คือ Safety : วัตถุดิบในการประกอบอาหารมีคุณภาพดี ปลอดสารพิษ Healthy : เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับอาการของคนไข้ และ Happy : อาหารต้องอุ่นตลอดเวลา มีเมนูให้คนไข้เลือก เพื่อให้คนไข้รู้สึกดี

          “นี่จะเป็น 3 เรื่องสำคัญ ที่กรมการแพทย์เราจะเน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่มารับบริการรู้สึกได้ว่า บริการดีๆ ไม่ได้มีเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น นี่ก็จะเป็นแผนภาพรวมในปี 2565 ซึ่งเป็นโอกาสที่กรมการแพทย์ครบรอบ 80 ปี นอกจากนี้ ในเรื่องของโควิด-19 กรมการแพทย์จะเน้นเตรียมในเรื่องของยาที่ใช้ในการรักษาต่างๆ โดยเจรจากับผู้ผลิตยาเพื่อจัดสรรยาให้เพียงพอ รวมถึงทำยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในเด็กมีเพิ่มขึ้นมาก ทั้งยังจะเน้นเตรียม Community Isolation โรงพยายามสนามสำหรับเด็ก และแรงงานต่างด้าวเพื่อรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะยังมีอยู่ในปี 2565” นพ.สมศักดิ์กล่าว

          นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของกรมการแพทย์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่สำคัญทั้งสิ้นต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับกรมการแพทย์ถือเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดำเนินการกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ บทบาทหลักของกรมการแพทย์ยังคงเป็นเรื่องของการดูแลรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นการที่เราจึงพยายามผลักดันการดำเนินงานให้เป็น Open Platform ให้ทุกคนมามีส่วนร่วมเสนอแนะ และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อผลักดันการรักษาพยาบาลให้เป็นทุกที่ทุกเวลา ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ นี่จึงเป็นบทบาทเล็กๆ ของกรมการแพทย์ที่จะทำร่วมกับภาคีเครือข่ายในปีนี้

          “ผมพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เราจึงพยายามเปิดให้เป็น Open Platform ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน แล้วคนในกรมก็จะมีนโยบายแบบ Bottom Up คือข้างล่างสามารถสะท้อนข้างบนได้ เพราะว่าการที่เรากำหนดนโยบายแบบ Top Down มันไม่ได้ประโยชน์ทั้งหมด ก็ต้องให้มีส่วนร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของเราเอง คนข้างนอก คนไข้ หรือแม้กระทั่งญาติคนไข้ อันนี้จะเป็นส่วนที่ดีที่สุดเมื่อร่วมมือกัน แต่ทั้งนี้เป้าหมายของทุกภาคส่วนที่ตั้งไว้จากเดิมคือ ‘ทุกลมหายใจที่ได้คืนมา มีค่ามากเกินกว่าคำชื่นชม’ เปลี่ยนมาเป็น ‘ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต’ เราต้องมาเคลียร์ให้มีเป้าหมายที่ตรงกันก่อน ถ้าเปลี่ยนมาคิดตรงกันได้ก็จะดี และทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์จะพยายามตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ด้วยการดูแลทุกที่ทุกเวลา โดยให้ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมเป็นหลักการทำงานร่วมกัน และตอนนี้กรมเองก็พยายามฝากวัฒนธรรมในการเอาคนไข้เป็นหลัก ถ้าเราคิดตรงกัน ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

www.dms.go.th