GISTDA จับมือ วช. ต่อยอด COVID-19 iMap สู่การพัฒนาระบบแสดงผลเพื่อช่วยตัดสินใจ

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

 

GISTDA จับมือ วช. ต่อยอด COVID-19 iMap สู่การพัฒนาระบบแสดงผลเพื่อช่วยตัดสินใจ นำร่องแล้ว 5 จังหวัด

GISTDA ร่วม วช. เร่งต่อยอดพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้เป็น Platform หรือ Covid-19 iMap รองรับการใช้งานให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจออกมาตรการ รวมถึงบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่ เริ่มนำร่องแล้วใน 5 จังหวัดต้นแบบ

คุณกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการภารกิจด้านภูมิสารสนเทศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์ในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้ทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่ง GISTDA ต้องการพัฒนาต่อยอดการสนับสนุนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สามารถรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 ผู้ใช้งานทั่วประเทศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ชลบุรี และภูเก็ต

โดยพัฒนาเป็นต้นแบบข้อมูลภาพสรุปในหน้าเดียว (Dashboard) อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ติดตาม วางแผน ออกมาตรการ และบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่อย่างสมดุลทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารแต่ละจังหวัด ปกครองจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดตลอดจนการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนั้นๆ

     การพัฒนา Covid-19 iMap ในครั้งนี้ 5 จังหวัดพื้นที่นำร่องเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป อาทิ จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีการค้าชายแดนที่ความสำคัญด้านการค้าและแรงงาน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ศูนย์การค้าและการเงิน (แม่สาย) ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเทียบเรือนานาชาติ (เชียงแสน) และศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (เชียงของ)

          จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมเรื่องการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศน์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ จึงถือเป็นจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นอย่างดี จังหวัดตาก เป็นจังหวัดตัวแทนของการค้าชายแดนที่ติดต่อกับพม่า ซึ่งมีอำเภอแม่สอดเป็นจุดการค้าที่สำคัญที่ใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า จึงถือเป็นจังหวัดตัวแทนที่มีการติดต่อ ค้าขาย และมีแรงงานเข้าออกเป็นจำนวนมาก

          จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีแรงงานที่เป็นประชากรแฝงจำนวนมาก เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งในด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการเสริมสร้างให้ EEC เป็นประตูเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชีย และสุดท้าย จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นจังหวัดแรก และเป็นจังหวัดเดียวที่มีสภาพเป็นเกาะ จัดเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวหากมี Platform นี้เข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลง่ายยิ่งขึ้นและทันต่อสถานการณ์

จากความร่วมมือระดับจังหวัดในครั้งนี้ เราจะได้เห็นมิติใหม่ของการเชื่อมโยงข้อมูลกัน หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถเข้าถึง ร่วมกันบูรณาการข้อมูลตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้กับประเด็นปัญหาต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ในระยะยาวสามารถขยายผลต่อไปในมิติอื่นๆ ได้ในอนาคต เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ตรงจุดและที่สำคัญรูปแบบจะทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นโดยการนำข้อมูลมาสรุปให้เห็นภาพเด่นชัดในหน้าเดียว

     อนึ่ง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีตัวย่อว่า “สทอภ.” และมีชื่อภาษาอังกฤษ "Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) - GISTDA" เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่างๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

โดยในปี 2541 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และด้วยความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านการสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ใน พ.ศ.2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยรวมกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ในนามของ “สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)” ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2543

สำหรับเป้าหมายภารกิจในปี 2565 และอีก 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) ของ GISTDA ประกอบด้วย 1.การดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา : THEOS-2 ในปี 2565 มีแผนการส่งดาวเทียมทั้งดวงหลัก (Main Satellite) และดวงเล็ก (Small Satellite/SmallSAT) ขึ้นสู่วงโคจร 2.GI for All ต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับ Stakeholder ได้ 3.GISTDA มีความพร้อมในการเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย และ 4.การทำงานแบบ Healthy Organization ที่บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีความสุข โดยสามารถนำปัญหาหรือข้อเสนอแนะเข้าหารือในทุกช่องทางกับผู้อำนวยการ สทอภ. ได้โดยตรง

ภายใต้เป้าประสงค์ข้างต้นมีหลักการทำงานแบบ Project Based Management การทำงานต้องเป็นระบบ นอกจากนี้การปรับปรุงโครงสร้างใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มงานตามภารกิจเพื่อให้สามารถตอบโจทย์วิสัยทัศน์ (Vision) และเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งในอนาคตมีแผนการกำหนดแนวทางการทำงานแบบ Work From Home เพราะเมื่อการทำงานเป็นรูปแบบ Project Based Management แล้ว บุคคลจะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Carbon Neutral โดยต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม COP26

www.gistda.or.th