กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยและพัฒนา เดินหน้าแผนงานปี 65

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

“80 ปี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยและพัฒนา เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย” เดินหน้าแผนงานปี 65  

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชูเป้าหมายปี 65 มุ่งขับเคลื่อนการทำงานและบุคลากร หนุนตอบโจทย์และสนับสนุนการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้มากยิ่งขึ้น เตรียมเปิดศูนย์พันธุกรรมพันธุ์พืชสมุนไพรของประเทศ กลางปีนี้ พร้อมตอกย้ำ 8 ทศวรรษแห่งการสถาปนา ชูความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ และข้อมูล เสริมแกร่งการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเป้าหมายในปี 2565 ว่า จะมุ่งขับเคลื่อนทั้งด้านการทำงานและบุคลากร โดยในส่วนของการขับเคลื่อนการทำงาน ได้แก่ การพัฒนางานวิทยศาสตร์การแพทย์ที่จะตอบโจทย์การตรวจวินิจฉัยโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่อาจเกิดขึ้น และโรคที่เป็นปัญหาของประเทศชาติ ยกตัวอย่างเช่น โครงการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย (จีโนมิกส์ประเทศไทย : Genomics Thailand) เพื่อเป็นพื้นฐานของการใช้หลักการแพทย์แม่นยำ หรือ Precision medicine โดยนำมาวินิจฉัยโรค ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัย การรักษาอย่างจำเพาะ และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สืบเนื่องจากนโยบายกัญชาและกระท่อมของรัฐบาล โดยได้ดำเนินการอย่างเร่งรัดภายใน 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมได้ทั้ง ยาแผนไทย ยาแผนปัจจุบัน เครื่องสำอาง อาหารทุกรูปแบบเมนู 11 ชนิด รวมถึง การตรวจวิเคราะห์แยกพืชกัญชง กัญชา

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่มุ่งเน้นอีกด้านหนึ่ง คือ การกระจายคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาโรค ด้วยโครงการตรวจพัฒนาทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนนโยบายกัญชาทางการแพทย์และกระท่อม คาดว่าอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าจะสามารถใช้การตรวจวิเคราะห์นี้ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการผลิตชุดทดสอบตรวจแยกกัญชง กัญชา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้

ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการโครงการศูนย์พันธุกรรมพันธุ์พืชสมุนไพรของประเทศ (Herbal Genomics Thailand) ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการจำแนกกัญชาพันธุ์ไทย 4 สายพันธุ์ โดยใช้เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอบาร์โค้ด รวมถึงยังได้ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ต้นแบบของกัญชาอีกด้วย เพื่อกระจายให้แก่เกษตรกรที่อยากจะปลูกกัญชาพันธุ์ไทยได้รับสายพันธุ์กัญชาที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนมากขึ้น

โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแผนที่จะเปิดศูนย์พันธุกรรมพันธุ์พืชสมุนไพรของประเทศ (Herbal Genomics Thailand) อย่างเป็นทางการในช่วงกลางปีนี้ และจะทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายขั้นต้น จะคัดแยกสายพันธุ์กัญชงพื้นเมือง 5 พันธุ์ และกระท่อม 3 พันธุ์ หลังจากนั้นจะไปดำเนินการคัดแยกสายพันธุ์พืชสมุนไพรอื่นๆ ที่มีความจำเพาะในแต่ละภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ ในปี 2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเน้นการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรมให้มีความเด่นชัด รวมถึง สามารถตอบโจทย์ภารกิจของประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการเพิ่มอัตลักษณ์จากเดิมที่มีอยู่ (ซื่อสัตย์และรับผิดชอบ) ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมี 4 อัตลักษณ์ คือ ซื่อสัตย์ สามัคคี รับผิดชอบ และยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งจะตอบโจทย์ทีมเวิร์ค และเครือข่ายได้เป็นอย่างดี

ท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์) จะเน้นย้ำเสมอว่า งบประมาณแผ่นดิน หรือเงินรายได้ที่กรมได้จากการตรวจวิเคราะห์ ที่จะนำมาดำเนินการแผนงานโครงการต่างๆ ถ้านำมาใช้อย่างไม่คุ้มค่า จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งท่านเน้นให้มีการใช้อย่างคุ้มค่า รวมถึง มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นทุกโครงการของกรมจะมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสีย ความเสี่ยงที่จะขาดธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการดำเนินงาน หรือโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ก่อสร้างต่างๆ” นายแพทย์พิเชฐ กล่าว

นายแพทย์พิเชฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้ง โดยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร เครื่องมือ และข้อมูล ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความใส่ใจในปัญหาของประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมองไปถึงการตอบโจทย์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน

“บทบาทของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นทั้งผู้ดำเนินการห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน OECD และการตรวจรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ รวมถึงการวิจัย พัฒนาเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห้องปฏิบัติการที่สำคัญ ห้องปฏิบัติการใดที่ไม่มีผู้ดำเนินการ เพราะเทคนิคยาก หรือไม่ได้กำไร จะเป็นหน้าที่ที่กรมต้องไปแบ็คอัพให้แก่ประเทศ ซึ่งเราจะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และวิสัยทัศน์ต้องทัดเทียมกับนานาชาติ เพราะต้องเป็น Reference หลักให้แก่องค์การอนามัยโลก และเป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐาน” นายแพทย์พิเชฐ กล่าว

www.dmsc.moph.go.th