“เทศบาลนครรังสิต” เผยแผนการดำเนินงานปี 2566

User Rating: 5 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar ActiveStar Active
 

“เทศบาลนครรังสิต” รุดหน้านโยบาย "เปลี่ยนแปลงนครรังสิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า"

เทศบาลนครรังสิต เผยแผนการดำเนินงานปี 2566 ลุยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสาธารณสุข สนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาสังคม ด้วยนโยบายเข็มมุ่ง “เปลี่ยนแปลงนครรังสิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

          ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า เทศบาลนครรังสิต ถือเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีประชาชนอยู่มาก ทำให้ปัญหาและความต้องการย่อมแตกต่างออกไป ซึ่งเทศบาลนครรังสิตได้ดำเนินนโยบายตามแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน พร้อมให้ประชาชนทุกคนได้ส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการ ตามแนวนโยบาย "เปลี่ยนแปลงนครรังสิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า"

เป็นที่ทราบกันดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราทุกคนต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เทศบาลนครรังสิตเราได้ให้ความสำคัญกับการรับมือกับการแพร่ระบาดตั้งแต่เริ่มแรก โดยใช้การตรวจ Rapid test ที่เป็นวิธีการตรวจที่รู้ผลได้รวดเร็ว ประกอบกับการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งนับเป็นปฏิบัติการ "นครรังสิตสู้ โควิด-19" โดยใช้แนวทาง "เน้นเชิงรุกเสริมตั้งรับ" นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation), การรักษาผู้ป่วยจากที่บ้าน (Home isolation) และการบริการวัคชีนทางเลือกชิโนฟาร์ม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่อยู่ในภาวะดีขึ้นมาโดยตลอด

          ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ กล่าวถึงการดำเนินงานในปี 2566 ด้วยว่า สำหรับในปีนี้สิ่งสำคัญของเรา คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือ เศรษฐกิจฐานราก โดยเราจะพยายามใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นตัวนำ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างงาน สร้างอาชีพ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยดำเนินผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นโครงการที่ชาวนครรังสิตจัดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี

รวมถึงกิจกรรม “ปทุมนครา ธารานฤมิตร” (เทศกาลลอยกระทง) ที่จัดขึ้นทุกปี และโครงการถนนคนเดินรังสิตที่กำลังเริ่มดำเนินการ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ให้ทุกคนในชุมชนได้มีรายได้ และสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเขตพื้นที่นครรังสิตได้ ปัจจุบันเราได้ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณประตูน้ำจุฬาไปบางส่วนแล้ว คาดว่าในปี 2566 นี้จะเห็นภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตเราก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบริเวณนั้น รวมถึงสวนสาธารณะที่พร้อมให้ประชาชนชาวนครรังสิตมาใช้ประโยชน์กันด้วย

          ขณะที่ในด้านสาธารณสุข ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โดยประชากรในพื้นที่เทศบาลนครรังสิตที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง อย่าง เบาหวาน ความดัน ไขมัน กันค่อนข้างมาก ดังนั้นเทศบาลนครรังสิตเราจึงเห็นความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว จึงได้ก่อตั้งโครงการ “ศูนย์การแพทย์นครรังสิต” ซึ่งศูนย์การแพทย์แบบปฐมภูมิขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่นครรังสิตและพื้นที่ข้างเคียง ในการรักษาพยาบาล ประกอบกับการสร้างเสริมสุขภาพผ่านการให้บริการที่หลากหลาย เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และทันตกรรม

สำหรับศูนย์การแพทย์ฯ ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่ซอยรังสิต-นครนายก 30 หรือซอยโรงสี โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ซึ่งเราตั้งเป้าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายใน 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จก็จะสามารถรองรับพี่น้องประชาชนชาวรังสิต รวมไปถึงพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งจะทำให้พวกเขาสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้สิทธิ์การรักษาทั่วไปได้

“ทั้งนี้ จากการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมา เทศบาลนครรังสิต เราได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบ Universal Design ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการออกแบบเพื่อทุกคน โดยโครงการเครือข่ายศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน สำนักงานสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. ในการเป็นองค์กรต้นแบบในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคน ซึ่งเกิดจากที่เราอยากจะลดความเลื่อมล้ำในสังคม อย่างเช่นความไม่เท่าเทียมของผู้พิการ หากเราสร้างความเท่าเทียม ลดความเลื่อมล้ำในสังคมต่างๆ ได้ ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น คุณภาพก็จะดีขึ้น” ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์กล่าว

ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเมืองในปัจจุบัน จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อนำประเด็นปัญหา ความต้องการ ร่วมถึงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรต่างๆ โดยมีคณะผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อกลั่นกรองโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนปัญหาในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งหากทุกคนมีส่วนร่วม ช่วยกันพัฒนา ปรับปรุงด้านต่างๆ ชุมชนก็จะเกิดการพัฒนาไปในทางทีดี