แพ็กเกจจิ้งแห่งอนาคตไตรมาสแรกโต 10 – 15% รับอานิสงส์ดีมานด์อาหารพร้อมทานพุ่ง
“เอกา โกลบอล” เผยไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดขายบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคตเติบโตกว่า 10-15% หลังผู้บริโภคกลับเข้าสู่วิถีชีวิตเร่งรีบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติ หนุนดีมานด์อาหารพร้อมรับประทานในประเทศและส่งออกพุ่ง มองปีนี้เป็นโอกาสของผู้ผลิตอาหาร แต่ต้องเร่งปรับตัวรับมือภัยแล้ง – เมกะเทรนด์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด (EKA GLOBAL) ผู้นำตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร (Longevity Packaging) แบรนด์คนไทยเบอร์ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และดำเนินธุรกิจด้วยความภาคภูมิใจกว่าสองทศวรรษ เปิดเผยว่า ภาพรวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมากกว่า 10-15% จากปี 2566 เป็นการเติบโตจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) กลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียม (Pet-Foods) และกลุ่มบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (กรีนโปรดักส์) โดยเติบโตทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่รักษาอัตราการเติบโตได้มากกว่า 100%
ทั้งนี้ มองการเติบโตเป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดอาหารโลก โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดในประเทศและตลาดส่งออกใกล้เคียงกัน อ้างอิงข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยคาดการณ์อัตราการเติบโตของตลาดอาหารในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นราว ๆ 5 – 6% โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมช่วยยืดอายุการจัดเก็บอาหารที่ยาวนานขึ้น หรือ มีนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เป็นแรงผลักดันตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
โดยการเติบโตของตลาดในประเทศ มีแรงหนุนจากการขยายตัวของเมืองทำให้อาหารพร้อมรับประทานรูปแบบต่าง ๆ เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตอาหารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีความเร่งรีบและไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหาร ทำให้อาหารพร้อมรับประทาน ที่มีความสะดวก มีมาตรฐานการผลิตทั้งด้านความสะอาด และรสชาติที่ดี มีราคาใกล้เคียงกับอาหารปรุงสด ตลอดจนการส่งเสริมการขายต่าง ๆ จะตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันมากกว่า
ทางด้านตลาดส่งออก คาดการณ์ปริมาณการส่งออกอาหารพร้อมรับประทานจะเติบโตโดยเฉลี่ย 5 – 6% ต่อปี โดยนอกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับเข้าสู่สภาวะเร่งรีบแล้ว มองแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกจะค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมอาหารพร้อมรับประทานที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรโลกที่นิยมอาศัยอยู่คนเดียว หรือ มีครอบครัวที่เล็กลง ยังรวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีความต้องการอาหารเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อครั้งมากกว่าการซื้อวัตถุดิบเตรียมไว้เพื่อปรุงอาหารในปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี ตลาดอาหารยังมีปัจจัยท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจส่งผลต่อปริมาณและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงกระแสรักสุขภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น บวกกับนโยบายสนับสนุนการลดการบริโภคโซเดียมของไทยและทั่วโลก จะทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้ออาหารที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า ยังมีเมกะเทรนด์โลกด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอาหาร โดยหลายประเทศมีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ สหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ โดยจะต้องติดฉลากรีไซเคิลตามสินค้า เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภครักษ์โลก และปฏิบัติตามมาตรการสหภาพยุโรป เป็นต้น
“ปีนี้ ตลาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน มีโอกาสขยายตัวที่ดีมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยที่ท้าทายหลายด้าน ทั้งเรื่องภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน อาจส่งผลต่อต้นทุนด้านการขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ได้ หรือ แม้แต่เมกะเทรนด์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ดังนั้นผู้ผลิตอาหารจะต้องระมัดระวังมากขึ้น”