กลุ่ม KTIS ขึ้นทะเบียนพันธุ์อ้อยใหม่ 5 สายพันธุ์ เพิ่มค่าความหวานและผลผลิตต่อไร่ สอดคล้องโมเดล BCG
กลุ่ม KTIS เผยผลการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ประสบความสำเร็จ และกรมวิชาการเกษตรได้ออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนแล้ว 5 สายพันธุ์ ได้แก่ รวมผล 1 รวมผล 2 เกษตรไทย 1 เกษตรไทย 2 และไทยเอกลักษณ์ 1 มีลักษณะที่ดีให้ผลผลิตและคุณภาพความหวานสูง มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS เป็นพันธุ์ทางเลือกใหม่เพื่อช่วยเพิ่มกำไรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย
นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม KTIS ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิต และคุณภาพความหวานอ้อย ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยมากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่ม KTIS ได้พัฒนาพันธุ์อ้อยต่างๆ จนมั่นใจแล้วว่าเป็นพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่ม KTIS จึงได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้ว 5 สายพันธุ์ ได้แก่ รวมผล 1, รวมผล 2, เกษตรไทย 1, เกษตรไทย 2 และ ไทยเอกลักษณ์ 1
“อ้อย 5 สายพันธุ์ใหม่นี้ เป็นทางเลือกของเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดสัดส่วนอ้อยพันธุ์เดิม ที่ใช้มาต่อเนื่องและยาวนาน ก่อให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากศัตรูพืชมีการปรับตัวจนสามารถเข้าทำลายอ้อยพันธุ์นั้นได้ การเลือกใช้พันธุ์อ้อยได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่นอกจากจะยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรแล้วยังสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบต่อไปได้” นายอภิชาตกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า การมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่ดีขึ้นของกลุ่ม KTIS นี้ สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economic Model) ที่มีเป้าหมายใช้ผลผลิตจากธรรมชาติ ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้สูงและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยอ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท สร้างงานในภาคเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 4 แสนราย มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ กว่า 12 ล้านไร่