กลุ่ม KTIS ประกาศยึดโมเดล BCG ในการดำเนินธุรกิจ ‘สร้างสมดุลทุกด้าน’ ตามธีม ‘เอเปค 2565’
กลุ่ม KTIS ประกาศชัด ยึดแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) เป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับธีมเอเปค 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่เน้น “สร้างความสมดุลในทุกด้าน” (Balance)
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม KTIS ในปัจจุบันและอนาคต ได้ใช้แนวคิดเรื่อง BCG Model มาเป็นแนวทางตลอดห่วงโซ่การผลิต เนื่องจาก วัตถุดิบตั้งต้นในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่ม KTIS เป็นไบโอ (B) คืออ้อย และนำมาต่อยอดในสายธุรกิจชีวภาพ โดยใช้ผลพลอยได้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกากอ้อย (ชานอ้อย) กากน้ำตาล (โมลาส) หรือแม้กระทั่งใบอ้อย จนแทบจะไม่มีความสูญเสียระหว่างทาง หรือที่เรียกว่า Zero Waste
“การหีบอ้อยได้น้ำอ้อยไปทำน้ำตาลทราย ส่วนชานอ้อยก็นำไปทำเยื่อกระดาษชานอ้อย รวมถึงต่อยอดไปเป็นภาชนะและบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยและหลอดชานอ้อย 100% ส่วนชานอ้อยอีกส่วนหนึ่งยังนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนโมลาสหรือกากน้ำตาล ก็นำไปผลิตเอทานอล ซึ่งการลงทุนในสายธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องครบวงจรนี้ ก็คือตัว C หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามโมเดล BCG นั่นเอง” นายประพันธ์กล่าว
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ในด้านของเศรษฐกิจสีเขียว หรือ G นั้น ทางกลุ่ม KTIS ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว และล่าสุดได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัทเอเวอร์คอมม์ (Evercomm) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนจากประเทศสิงคโปร์ และบูโร เวอริทาส (Bureau Veritas) องค์กรด้านการตรวจสอบและออกใบรับรอง จากประเทศสิงคโปร์ ในการวางแนวทางสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และสร้างโอกาสด้าน Carbon Credit
ทั้งนี้ ทาง Evercomm จะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม KTIS ในโซนโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ไปทำการวิเคราะห์คำนวณ carbon credit ของแต่ละกิจกรรม ก่อนจะมีการตรวจสอบและรับรองการคำนวณด้วยมาตรฐานของทาง Bureau Veritas ซึ่งจะมีการคำนวณทั้งในส่วนแยกการผลิตของแต่ละผลิตภัณฑ์และนำมารวมกันในผลรวมของทั้งเครือบริษัท
“ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม KTIS เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ก่อก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เยื่อกระดาษจากชานอ้อย ไบโอเอทานอล ทำให้บริษัทในกลุ่ม KTIS ได้รับการรับรองด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น iso14001 และยังรวมไปถึงการได้รับการรับรองทั้งกระบวนการใน supply chain ตั้งแต่ในไร่อ้อย เช่น มาตรฐาน Bonsucro และ VIVE program ซึ่งยืนยันในเรื่องการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน” นายประพันธ์กล่าว
สำหรับการดำเนินธุรกิจด้วย BCG Model ของกลุ่ม KTIS นี้ สอดคล้องกับแนวคิด “เปิดกว้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. ซึ่งเป็นเสาหลักของ เอเปค 2565 ในครั้งนี้ โดยประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้เล็งเห็นถึงช่องทางการเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามแนวคิด BCG Model