“KWM” จ่อกลับมาผงาดปี 66 รุกตลาดต่างประเทศ - ลุยสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพร
บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (“KWM”) เปิดกลยุทธ์ปี 66 ลุยขยายตลาดต่างประเทศ เจาะเวียดนาม-ลาว-พม่า หวังสร้างมูลค่าเพิ่มตัวเลขรายได้ในกลุ่มอุปกรณ์เกษตร ส่วนกลุ่มธุรกิจ LABACTIVE-โรงงาน KWHB ปีนี้เตรียมสตาร์ทเครื่องผลิต ส่วนผลงานงวดปี 65 ทำรายได้จากการขายเท่ากับ 472.90 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 29.86 ล้านบาท
นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) “KWM” เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อเทียบจากปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของราคาพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ KWM มีการปรับกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสำหรับปีนี้ โดยการมุ่งเน้นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อการจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร โดยเบื้องต้นบริษัทฯจัดทีมเพื่อสำรวจตลาดแล้ว 3 ประเทศ อาทิ ประเทศเวียดนาม, ประเทศลาว และ ประเทศพม่า อีกทั้ง บริษัทฯยังได้มีการศึกษาการขยายตลาดในประเทศกัมพูชาเพิ่มเติม เนื่องจากมองว่าดีมานด์การใช้อุปกรณ์สำหรับการเกษตรในประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการดำเนินการของ บริษัท แล็บแอคทีฟ จำกัด (“LABACTIVE”) ได้มีการวางกลยุทธ์และความพร้อมในการดำเนินธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่มีสารสกัดจากกัญชง-กัญชา ซึ่งล่าสุดได้รับใบอนุญาตสกัดกัญชง-กัญชาเป้นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าอาจจะเริ่มดำเนินการสกัดได้ในไตรมาส 2/2566 ส่วนโรงงานของ KWHB คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเร็วๆ นี้ เพื่อดำเนินการสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรไทย กระท่อม โดยล่าสุด อย.ได้เข้าตรวจโรงงานสกัดสาระสำคัญจากพืชสมุนไพรไทยของ KWHB แล้ว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการภายในไตรมาส1/2566
ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค”KWM” กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานในปี 2565 ว่า บริษัทมีรายได้จากการขายเท่ากับ 472.90 ล้านบาท ลดลงจำนวน 94.40 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 16.64 ของรายได้จากการขายเมื่อเทียบกับปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 29.86 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักที่รายได้และกำไรลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้าน้อยลงจากสถานการณ์เงินเฟ้อและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และสภาพอากาศที่แปรปรวน แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจะมีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้นพร้อมทั้งอิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอกในช่วงไตรมาส 3 ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
อีกทั้ง ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้แรงงานเริ่มทยอยกลับไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการ ทำให้ความต้องการสินค้าอุปกรณ์การเกษตรลดน้อยลง ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลงในเกือบทุกผลิตภัณฑ์