กลุ่มธุรกิจ TCP ชูความสำเร็จ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” โมเดลต้นแบบโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
กลุ่มธุรกิจ TCP เผยความสำเร็จโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ที่เริ่มดำเนินการในปี 2562 โดยปัจจุบัน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในระบบจากบริหารจัดการได้ถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผู้รับประโยชน์กว่า 40,000 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ 75 ล้านบาท ชูโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย พื้นที่ลุ่มน้ำยม จ. แพร่ เป็นโมเดลต้นแบบด้วยแนวทาง “ฟื้นฟูป่า-พัฒนาน้ำ-ทำเกษตรแบบ Smart Farmer” ซึ่งเห็นผลสำเร็จเกินเป้าหมาย
นางสาวอรัญญา ลือประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริงที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ผนึกชุมชน ภาครัฐ นำโดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และภาคเอกชน ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ เราได้ทำงานลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จเกินเป้าหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ. แพร่ จากการทำงานที่เริ่มต้นวางแผนและลงมือทำโดยชุมชน เสริมด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปให้ความรู้ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ทำให้เกิดการทำงานที่มีระบบและเป็นรูปธรรม
จนปัจจุบันสามารถพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างมั่นคง จะเห็นได้ว่าความสำเร็จไม่ได้มีเพียงเรื่องการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก สร้างความสามัคคี เกิดกลุ่มอาชีพ และการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ กลุ่มธุรกิจ TCP จะยังคงเดินหน้าทำงานด้านการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือเป็นองค์กร Net Water Positive หรือการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100%”
นายวีฤทธิ์ กวยะปาณิก กรรมการศูนย์บริหารจัดการน้ำ จ. แพร่ กล่าวว่า “ผมขอเป็นตัวแทนชาวแพร่ ขอบคุณกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ให้การสนับสนุนและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาลุ่มน้ำยม ด้วยแนวทาง “ฟื้นฟูป่า-พัฒนาน้ำ-ทำเกษตรแบบ Smart Farmer” โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้พื้นที่ต่างๆ ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำเข้าไปช่วยรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติเกิดเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ส่งต่อองค์ความรู้ แจ้งเตือนข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรและการจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาพอากาศและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ในปีที่แล้ว พื้นที่นี้ไม่ได้รับผลกระทบหนักจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนเป็นหลักในการขับเคลื่อน สามารถวางแผนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบโครงสร้างแหล่งน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มความมั่นคงทางการเกษตรและเศรษฐกิจชุมชน”
นางเพ็ญศรี ปันฟอง ตัวแทนชุมชนแม่ขมิง จ. แพร่ เล่าถึงการมีส่วนร่วมในโครงการ ฯ ว่า “แต่เดิมที่แพร่มีปัญหาทั้งน้ำหลากน้ำแล้งในพื้นที่เดียวกัน ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ปัจจุบัน เรามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าต้นทุนน้ำที่ชุมชนต้องการ สร้างผลผลิตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถนำไปแปรรูปและเพิ่มมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายๆ ครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากกการเกษตรได้ถึง 8,000 – 15,000 บาท/เดือน ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย”
โมเดลต้นแบบการจัดการน้ำ
- ฟื้นฟูป่า: วางแนวกันไฟ ดูแลป่าต้นน้ำ เสริมฝายต้นน้ำ วางระบบท่อเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ
- พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ: สร้างถังเก็บน้ำลักษณะหอถังสูง แบ่งเส้นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
- ทำเกษตรแบบ Smart Farmer: สร้างระบบรางส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร วางระบบรางกระจายน้ำเพื่อการเกษตร เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และแจ้งเตือนให้กับชุมชน ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ผลลัพธ์ความสำเร็จจากโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย พื้นที่ลุ่มน้ำยม จ. แพร่
- ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำห้วยปะยางมีความจุเพิ่มขึ้น เป็น 959,000 ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น341,000 ลบ.ม. และสามารถบริหารจัดการน้ำได้มากที่สุดถึง 6 รอบต่อปี
- สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ 8,000 – 15,000 บาท/เดือน
- เกิดการจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และการใช้งาน ได้แก่ เสริมสปิลเวย์ ยกระดับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยป้อม เก็บเข้าหอถังสูง เสริมระบบสูบด้วยโซลาร์เซลล์ลดการใช้พลังงาน ฝายชะลอน้ำสร้างจากวัสดุธรรมชาติเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่
- ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของโครงการ ร่วมวางแผนการทำงาน ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย 100 ล้านบาทตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ในพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ให้ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ ตามกลยุทธ์ “ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม” และในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าจะเกิดผลสำเร็จในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว และนครนายก ที่ดำเนินโครงการควบคู่กัน