"โลจิสติกส์" มาแรง! ศรีปทุมจับมือ "ยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์ TIFFA ITBS" ปั้น “คนโลจิสติกส์” ทักษะสูง ตอบโจทย์ - เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมขับเคลื่อนประเทศ
วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม จับมือ ยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์ TIFFA ITBS ปั้น “คนโลจิสติกส์” ทักษะสูง พัฒนาหลักสูตรเน้นทักษะและความรู้ที่จำเป็น เรียนรู้จากประสบการณ์จริง บูรณาการการเรียนร่วมกับการทำงาน ตอกย้ำผู้นำพัฒนาหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมตอบโจทย์ตลาดมากที่สุด รับความต้องการอุตสาหกรรมเติบโตคาดปี 2569 มูลค่าแตะ 3.1 ล้านล้านบาท
ชี้เป็นอาชีพขาดแคลน เร่งด่วน จบแล้วมีโอกาสได้งานทันที ฐานเงินเดือนสูง เพราะกำลังสำคัญเพิ่มมูลค่าและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และเศรษฐกิจประเทศ พร้อมเปิด 3 ขาดแคลนเร่งด่วน ในสายงาน 1.นักจัดการ โลจิสติกส์สำหรับสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) 2. นักวางแผนอุปสงค์ (Demand Planner) นักวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และ 3. นักวางแผนการขนส่ง (Smart Driver)
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เปรียบเสมือน "เส้นเลือดใหญ่ " ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสการค้าโลก มูลค่าตลาดโลจิสติกส์ไทยปี 2564 อยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี แตะ 3.1 ล้านล้านบาทในปี 2569 การจ้างงาน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยสร้างงาน 5.7 ล้านคนในปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 ล้านคนในปี 2569 การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ และความท้าทายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ “Demand” ความต้องการกำลังคนในสายงานนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก
แต่ปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการเผชิญคือ “Supply” กำลังคนสมรรถนะสูงยังมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้เกิดความขาดแคลน "กำลังคน" ทั้งทักษะเฉพาะทาง (Hard Skills) และทักษะสมัยใหม่ (Soft Skills) โดยเฉพาะในกลุ่ม “กำลังคนสมรรถนะสูง-ปานกลาง” สะท้อนปัญหา แรงงานล้น แต่ทักษะไม่ตรง และโจทย์ที่ประเทศต้องเร่งแก้ไข พัฒนาแรงงานทักษะสูง ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พาประเทศเอาชนะปัญหาเทคโนโลยีแย่งงาน และสังคมสูงวัย
ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สูงขึ้นทุกปี ในขณะที่การพัฒนา "คน" ในสายงานโลจิสติกส์ยังพบอุปสรรคหลายด้านทั้งในฝั่ง Demand หรือสถานประกอบการที่ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ให้ก้าวสู่โลกยุคดิจิทัล แต่ยังขาดแรงงานทักษะใหม่ มีผลต่อการพัฒนาขับเคลื่อนองค์กรที่ไม่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีซับซ้อนและมีความเฉพาะตัวสูง หรือในบางสถานประกอบให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคน ก็มักถูกซื้อตัวไปทำงานในบริษัทข้ามชาติ ทำให้เกิดปัญหาอัตราการลาออกสูง อีกทั้งคนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานประจำ หรืองานที่ต้องใช้แรงงาน ดังนั้นโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของ ม.ศรีปทุม เป็น "สะพานเชื่อมโยง" ระหว่าง "ภาคการศึกษา" กับ "ภาคธุรกิจ" ผลิตบัณฑิตพันธุ์ที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม มีความพร้อมในการทำงานระหว่างเรียน
โดย หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ม.ศรีปทุม ถือเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ ในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพให้กับประเทศ โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นแหล่งพัฒนาทรัพยากรบุคคล “HRD (Human Resource Development)” ในการพัฒนากำลังคนที่มีความรู้ ทักษะ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ประสิทธิผลสูงสุด ตอบโจทย์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กว่า 200 บริษัท ภายใต้สมาคมผู้รับการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) นำผู้เชี่ยวชาญตัวจริงประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ผ่านโครงการ "หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่" ปัจจุบันหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเอกชนผลิตกำลังคนออกสู่ตลาดแรงงานมากกว่ามหาลัยรัฐ และม.ศรีปทุมเป็นอันดับหนึ่งในการผลิต “คน” ทักษะสูงออกสู่อุตสาหกรรมมากที่สุด
“เราพัฒนาหลักสูตรเน้นทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโลก นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติทั้งในห้องปฏิบัติการและสถานประกอบการจริง “เรียนรู้จากตัวจริง ประสบการณ์จริง”โดยมีอาจารย์เป็นโค้ชคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่นักศึกษาให้มองเห็นเป้าหมายในสายงานได้ชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมามีบัณฑิตในโครงการนี้แล้วกว่า 300 คน และได้เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์แล้วแทบทั้งหมด รวมถึงโอกาสสร้างรายได้/ค่าตอบแทนที่สูง และโอกาสเติบโตในระดับผู้บริหารสายงานโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นเจ้าของธุรกิจได้ โดยอัตราค่าตอบแทนในสายงานนี้เริ่มต้นที่เดือนละ 20,000 -25,000 บาท ถ้ามีทักษะภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่ 3 ค่าตอบแทนจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ตำแหน่งระดับบริหารในสายงานนี้ มีรายได้สูงถึง 6 หลักขึ้นไป และสามารถก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้า ส่งออก มีโอกาสเติบโตสร้างรายได้ที่มั่นคง”
โดยปัจจุบันนี้มี 3 อาชีพเร่งด่วน ที่ยังขาดแคลนและต้องเร่งผลิตบัณฑิตให้ทันต่อการเติบโตของประเทศ ได้แก่ 1. อาชีพนักจัดการโลจิสติกส์สำหรับสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) อาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดเก็บและขนส่งสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิรักษาคุณภาพ เช่น ผลผลิตทางการเกษตร อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ 2. อาชีพนักวางแผนอุปสงค์ (Demand Planner) นักวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 3. อาชีพนักวางแผนการขนส่ง (Smart Driver) ทำหน้าที่วางแผน ควบคุม และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการการขนส่งและการกระจายสินค้า
นายสมชาย บรรลือเสนาะ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ (ITBS) ผู้คร่ำหวอดในแวดวงโลจิสติกส์ เผยว่า อุตสาหกรรมฯ กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รองจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และธุรกิจสุขภาพ รัฐบาลเล็งเห็นถึงโอกาส ผลักดันประเทศไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เชื่อมโยงการขนส่งจากจีนตอนใต้ไปยังประเทศต่างๆ ผ่านไทย หัวใจสำคัญ ของการเป็นฮับได้สำเร็จ "คน" ต้องมีศักยภาพ ตอบโจทย์ความซับซ้อนของงาน เข้าใจหลักเกณฑ์ มาตรฐานการขนส่ง และมาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศ “คนโลจิสติกส์” ต้องมี ทัศนคติที่ดี รักในสายงาน มองเห็นเป้าหมายการเติบโต TIFFA ITBS และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงร่วมมือกันพัฒนา “คน” กำลังสำคัญในการเพิ่มมูลค่า ยกระดับอุตสาหกรรมให้ประเทศ เริ่มตั้งแต่การแนะแนวให้นักศึกษามองเห็นเป้าหมาย ฝึกฝนทักษะพื้นฐาน และโครงการ “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ต่อยอดความรู้จากภาคปฏิบัติสู่สนามจริง 10 เดือน นักศึกษาได้เรียนรู้ ค้นพบตัวเอง พัฒนาศักยภาพ และมีเป้าหมายเติบโตในสายงาน
ในสายงานนี้ทักษะภาษาอังกฤษ สำคัญมาก ช่วยให้เติบโตในตลาดแรงงานระดับโลก และเพิ่มค่าตอบสูงขึ้น ในเฟสต่อไป เดินโครงการ “ปั้นเด็กเทพ” คัดนักศึกษาหัวกะทิ 19 คน พัฒนาเป็นกำลังคนสมรรถนะสูง ไปเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ และเดินหน้าร่วมมือ ร่วมพัฒนาหลักสูตร อัพสกิล รีสกิล ด้านโลจิสติกส์ ทันกับความต้องการของตลาดให้กับกำลังคนในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อทันต่อการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก และมีแผน จับมือคณะศิลปศาสตร์ เพิ่มทักษะภาษาจีน และภาษาอาเซียน รองรับการเป็นฮับ การเพิ่มทักษะภาษาที่ 3 ภาษาจีน และภาษาอาเซียน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกำลังคนที่จะป้อนออกสู่อุตสาหกรรม และมีค่าตอบแทนสูงขึ้นตาม
นายวรชิต รัตนจินดา Management Executive บริษัท โปรเฟรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด “ในฐานะผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์มานานกว่า 30 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอด หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายที่สุดในปัจจุบันคือ การปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ในธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวัยกลางคน ซึ่งอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหมือนกลุ่มเจเนอเรชันใหม่ ๆ ที่เติบโตมาในวิถีดิจิทัลไลฟ์ การรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน การเติมเต็มช่องว่าง เกิดมุมมองและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจโลจิสติกส์”