"โกลเบล็ก" - จับตาสถานการณ์โควิด-19
บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ Sideway Down จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ บวกกับตัวเลขส่งออกที่มีโอกาสติดลบใน 4Q65 และในปีหน้าส่งออกคาดจะขยายตัวลดลงเหลือ 2-3% เซ่นพิษเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ค่าเงินบาทผันผวน แนะจับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมธ.ค.นี้ จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,600-1,640 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นได้โควิด-19 ชู BCH-CHG-EKH-THG-WPH น่าลงทุน
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีโอกาสแกว่งตัว Sideway Down โดยมีแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ชาวจีนรวมตัวประท้วงรัฐบาลที่ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศจีน ผู้ประท้วงบางกลุ่มเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงลาออกจากตำแหน่ง และทางบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่และบริษัทแซดทีอี คอร์ป ถูกห้ามจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐ เนื่องจากมีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคง
ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงแรงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะที่ราคาน้ำมันถูกกดดันจากการที่รัสเซียประกาศว่าจะไม่จัดส่งน้ำมันรวมทั้งห้ามบริษัทและเทรดเดอร์ใด ๆ ของรัสเซียขายน้ำมันให้แก่กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย จึงคาดกรอบเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับ 1,600-1,640 จุด
ส่วนสถานการณ์ในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการประเมินของธนาคารกสิกรไทยถึงแนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีมากขึ้นในปี 2566 ที่คาดว่าจะมี 20 ล้านคน คาดค่าเงินบาทปี 66 อยู่ที่ 33.50-34 บาทต่อดอลลาร์ และตัวเลขการส่งออกที่โอกาสติดลบใน ช่วง 4Q65 ส่วนปี 2566 คาดส่งออกขยายตัว 2-3% รับพิษเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ค่าเงินบาทผันผวน สอดคล้องกับที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. หดตัว 4.4% จากตลาดคาดโต 5.5-6%
ด้านปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ วันที่ 1 ธ.ค. จีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และภาคการผลิตเดือนพ.ย. วันที่ 4 ธ.ค. กลุ่มโอเปกพลัสประชุมนโยบายการผลิต วันที่ 6 ธ.ค. ก.พาณิชย์รายงานตัวเลข CPI เดือนต.ค. และวันที่ 13-14 ธ.ค. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐ
ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหุ้นที่ได้อานิสงส์ ได้แก่ BCH, CHG, EKH, THG และ WPH
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นโดยแกว่งตัวบริเวณ 1,750$/oz หลัง เจมส์ บูลลาร์ด ประธนาคารกลาง สาขาเซนต์หลุยส์ ได้ให้มุมมองในปี 2023 เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในกรอบที่ 5.0-7.0% อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากประกาศตัวเลขดัชนีภาคการผลิตและดัชนีภาคบริการเดือนพฤศจิกายนต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 47.6 และ 46.1 ตามลำดับ ตลาดจึงคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมที่ระดับ 0.5% ทำให้ ณ สิ้นปีกรอบดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% เมื่อตลาดรับข่าวปัจจัยกดดันไปแล้วส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐอ่อนตัวลงจากระดับ 3.84% เหลือระดับ 3.67% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวลงระดับ 105.88 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าหนุนราคาทองคำปรับตัวขึ้น ขณะที่ SPDR เข้าซื้อเพิ่มขึ้น 0.58 ตัน
ส่วนในสัปดาห์นี้จับตาประกาศตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐและจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่เพิ่มมากขึ้น หากตัวเลขการจ้างงานและอัตราการว่างงานของสหรัฐอ่อนตัวลงต่อเนื่อง ประกอบกับการล็อกดาวน์ในจีนที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไปทั่วโลก ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอาจมีแรงซื้อเพิ่มขึ้น
ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าทองคำมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากตลาดรับข่าวปัจจัยกดดันไปแล้ว อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มหดตัวลง เป็นแรงหนุนต่อราคาทองคำ ขณะที่ SPDR เริ่มมีสัญญาณซื้อมากขึ้น จึงมองกรอบราคาทองคำ 1,730-1,800$/oz หากไม่หลุดแนวรับดังกล่าวทยอยเข้าซื้อสะสม