คาร์กิลล์คว้า 2 รางวัลยอดเยี่ยมด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ย้ำความทุ่มเทด้านการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
คาร์กิลล์ ประเทศไทย คว้า 2 รางวัลด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์จากสถาบันระดับโลก ในฐานะหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย (จากนิตยสาร HR Magazine) และองค์กรนายจ้างดีเด่นของไทย (รางวัลร่วมระหว่าง Kincentric และ ศศินทร์) ตอกย้ำความมุ่งมั่นและค่านิยมองค์กรในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งทำให้บริษัทได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากทั้งจากภาครัฐ เอกชน และพนักงานขององค์กร
คาร์กิลล์ เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอาหารและเกษตรกรรม ในประเทศไทย คาร์กิลล์เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ชั้นนำของไทย ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเมื่อเร็วๆ นี้ คาร์กิลล์ ได้รับรางวัล “HR Asia Best Companies to Work for in Asia Awards 2022” หรือ “รางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2022” จัดโดย HR Asia นิตยสารชั้นนำด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ได้รับการยอมรับในภูมิภาคเอเชีย และรางวัล “Kincentric Best Employers Thailand 2022” หรือ “รางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น แห่งประเทศไทย ปี 2565” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง คินเซนทริค บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำระดับโลก และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ คาร์กิลล์ยังได้รับรางวัลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น รางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านสวัสดิการและแรงงานสัมพันธ์จากภาครัฐ
รางวัล “HR Asia Best Companies to Work for in Asia Awards 2022” หรือ “รางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2022” มีเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การสร้างความผูกพันของพนักงานกับองค์กร โดยมีการประเมินการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับในองค์กร รางวัลนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคาร์กิลล์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างแท้จริง รวมถึงการเคารพ เข้าใจ ให้เกียรติ ในการดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานเป็นอย่างดี
รางวัลที่สองที่คาร์กิลล์ได้รับหลังจากรางวัลแรกไม่นาน ได้แก่ รางวัล “Kincentric Best Employers Thailand 2022” หรือ “รางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น แห่งประเทศไทย ปี 2565” ซึ่งคาร์กิลล์ ประเทศไทย เป็นบริษัทแรกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุกที่ได้รับรางวัลนี้ การตัดสินรางวัลนี้พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร (Employee Engagement) ความคล่องตัวในการปรับตัวขององค์กร (Agility) ภาวะผู้นำที่สร้างความผูกพันให้กับพนักงาน (Engaging Leadership) และความสามารถขององค์กรในการสร้างศักยภาพให้พนักงาน (Talent Focus) ในการตัดสินรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น แห่งประเทศไทย ปี 2565 เป็นการเก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรและการมีส่วนร่วมของพนักงาน
โดยมีการเก็บข้อมูลถึง 3 ขั้นตอน คือ การสำรวจความเห็นโดยการตอบแบบสอบถามของพนักงานกว่า 2,000 คน การทวนสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบ ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล และจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทฯ ครอบคลุมการบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยรวมของธุรกิจคาร์กิลล์ ประเทศไทยในมิติต่างๆ ในเชิงลึก เช่น นโยบายในการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาในองค์กร การออกแบบการทำงาน การพัฒนาบุคลากรและองค์กร มาตรการด้านการพัฒนาวินัยพนักงาน ระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน
นายวัชรพล ประสพเกียรติโภคา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจคาร์กิลล์โปรตีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้แทนคณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัทคาร์กิลล์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “คาร์กิลล์มีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั่วโลก เราเชื่อว่า“ทรัพยากรมนุษย์” เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร และพนักงานของเราเองก็ตั้งใจทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของคาร์กิลล์ถูกส่งถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ของเราอย่างมีคุณภาพ รางวัลเหล่านี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจของพนักงานคาร์กิลล์ และยังเป็นแรงบันดาลใจที่จะสนับสนุนให้เราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน”
รางวัลทั้งสองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายๆ รางวัลที่คาร์กิลล์ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในฐานะองค์กรในเอเชียที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ทั้งสองรางวัลล่าสุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญสูงสุดกับพนักงานนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และคาร์กิลล์สามารถนำนโยบายนี้มาลงมือทำจริงได้อย่างเกิดผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยของพนักงานทั้งทางกายภาพ และจิตใจ รวมทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี
คาร์กิลล์ ประเทศไทย มีพนักงานระดับผู้จัดการอาวุโสกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง รวมถึงมีการเปิดให้ผู้พิการได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกันกับพนักงานอื่นๆ อาทิ การเข้าร่วมการพัฒนาทักษะ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายการทำงานแบบไฮบริดยังทำให้พนักงานสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถได้ด้วยการอบรมและเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งนโยบายดูแลพนักงานอื่นๆ เช่น การส่งเสริมการยอมรับในความแตกต่าง สร้างความเท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ การส่งเสริมให้พนักงานสร้างความสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพอย่างมั่นคง และส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่