ม.มหิดล พร้อมพัฒนาคุณภาพสู่ระดับชาติ ภายใต้มาตรฐานโลก ด้วยหลักการจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง MBF
“การจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง” (MBF - Management By Fact) คือ 1 ใน 11 ค่านิยมและแนวคิดหลัก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเกณฑ์การพิจารณารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) ภายใต้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อการมุ่งเน้นผลลัพธ์ ซึ่งทุกองค์กร รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลยึดถือเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อการพัฒนาคุณภาพระดับชาติ ภายใต้มาตรฐานโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกแห่งข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน ที่ท่วมท้นจนกลายเป็นสังคมแห่ง “ข้อมูลมหัต” (Big Data) ที่รอการจัดระเบียบให้เหมาะสม ด้วยหลักการ MBF จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มผลผลิตสู่ความยั่งยืน
อาจารย์ ดร.เพชร สัจจชลพันธ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำข้อมูลให้พร้อมใช้ และแบ่งปันให้ทุกคนในองค์กรได้เข้าถึง ผ่าน “ระบบข้อมูลกลาง” จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร
โครงสร้างของการจัดทำระบบข้อมูลกลาง เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรตามหลักการ MBF ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การนำเข้าข้อมูล การจัดการข้อมูล และการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ โดยเป็นงานที่ทุกฝ่าย ตั้งแต่เจ้าของข้อมูล ผู้จัดการข้อมูล ตลอดจนผู้ใช้ข้อมูล ต้องร่วมด้วยช่วยกันดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมใช้
การสร้างโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรตามหลักการ MBF เป็นงานที่แม้ต้องอาศัยการลงทุนตั้งแต่การติดตั้ง รักษา และพัฒนาระบบ ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันข้อมูลตามลำดับชั้นของการเข้าถึงเพื่อควบคุมความเสี่ยง โดยมีผู้รับผิดชอบ และตรวจสอบการเข้าถึง แต่ก็นับว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว และจะสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้ หากสามารถผลักดันสู่ระดับนโยบาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.เวทสินี แก้วขันตี รองคณบดีฝ่ายแผนและพัฒนาองค์กร คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงในส่วนการบริหารทรัพยากรบุคคล นับตั้งแต่ได้มีการใช้หลัก MBF มาพัฒนาระบบโดยใช้ข้อมูลจริงทั้งหมด ในการกำหนดเป้าหมาย แก้ปัญหา รวมถึงติดตามผลลัพธ์การดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างระบบ ระเบียบในการทำงาน โดยมองตามสภาพความเป็นจริง และเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน พบว่าผลสำรวจความสุขของบุคลากร (Happinometer) และความผูกพันของบุคลากรกับคณะฯ มีคะแนนที่ดีขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคณาจารย์กายภาพบำบัด และคณาจารย์กิจกรรมบำบัด ซึ่งต้องมีภารกิจที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ คณะได้กำหนดเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) จากภาระรับผิดชอบที่หนักจนเกินไป นอกจากนี้ ในส่วนของบริการสุขภาพ คณะฯ ยังมีนักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัดประจำศูนย์กายภาพบำบัดที่มากด้วยความเชี่ยวชาญเป็นกำลังสำคัญเพื่อให้บริการที่ดีที่สุดต่อประชาชนอยู่แล้วร่วมด้วย
สำหรับด้านการศึกษายังคงเชื่อมั่นได้ในคุณภาพของหลักสูตรเนื่องจากร้อยละ 80 ของหลักสูตรในคณะ ได้รับรองมาตรฐานในระดับสากล ได้แก่ World Physiotherapy, The World Federation of Occupational Therapist และ AUN - QA รวมถึงคณาจารย์ของคณะยังได้รับการรับรองตามเกณฑ์ Professional Standards Framework ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีคุณภาพในด้านการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย
ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น การตั้งเกณฑ์ที่เข้มงวดจนเกินไปอาจบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร ดังนั้น การบริหารด้วยหลักการ MBF สามารถทำให้เกิดความยืดหยุ่นและท้าทายความสามารถของบุคลากร เพื่อให้พัฒนาตนเองและพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งสองส่วนงานตามที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง MBF ให้มากด้วยประสิทธิภาพ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเชื่อมั่นได้ถึงศักยภาพที่พร้อมให้บริการประชาชนด้วยความเท่าเทียม และพร้อมเคียงข้างไปกับทุกย่างก้าวของโลกที่เปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาคุณภาพสู่ระดับชาติ ภายใต้มาตรฐานโลกต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th