ม.มหิดล ภูมิใจระบบคิวจัดยาดิจิทัล รพ.ศิริราช “ถูกคน ถูกต้อง ปลอดภัย“ เบ็ดเสร็จทุกขั้นตอนเพียงครึ่งชม.
ระบบคิวจัดยาใหม่ เป็นการร่วมแรงแข็งขันออกแบบและดำเนินการโดยทีมฝ่ายเภสัชกรรม ฝ่ายสารสนเทศ และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ ลิ้มกุล หัวหน้าหน่วยสารสนเทศ ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของการออกแบบระบบคิวจัดยาระบบใหม่ของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ “ไม่ต้องรอแบบไร้จุดหมาย”
รับประกันด้วยเวลาให้บริการ 7 ขั้นตอน ตั้งแต่รับบัตรคิว จนถึงรับยาพร้อมคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนกลับบ้านเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 40 - 90 นาที ซึ่งระบบคิวจัดยาระบบใหม่อาศัยการทำงานเป็นทีม โดยได้รับความพึงพอใจจากผู้รับบริการถึงกว่าร้อยละ 80 และคว้ารางวัลนวัตกรรมเด่น โครงการติดดาว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2559
ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้นำมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตในโลกยุคใหม่ที่รอช้าไม่ได้ ผู้ป่วยสามารถตรวจสอบคิวรับยาได้จาก Application Siriraj Connect และสำหรับห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกอัตโนมัติ โรงพยาบาลศิริราช สามารถนำใบคิวตรวจมาใช้สแกนกับเครื่องสแกนบาร์โค้ด เพื่อดูคิวชำระเงินค่ายาและสถานะการรับยา โดยไม่ต้องรอฟังการเงินเรียกชื่อชำระเงินค่ายา
เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ ลิ้มกุล ได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับที่ทำให้คิวจัดยาระบบใหม่ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งและเป็นโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการแห่งแรกในประเทศไทย จึงมีความเก่าแก่มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีผู้เข้ารับบริการมากที่สุดของประเทศไทย ใช้เวลาทั้งหมดเพียงครึ่งชั่วโมง นอกจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเครื่องสแกนบาร์โค้ดมาปรับใช้แล้ว ยังได้ออกแบบระบบให้มีการแสดงเลขคิวแทนการเรียกชื่อ ซึ่งเป็นไปตาม PDPA กระทรวงสาธารณสุข ที่ว่าด้วยมาตรการระบุตัวผู้ป่วย (Patient Identification) และยังได้มีการแสดงเลขคิวในใบนัดและชำระเงิน พร้อมแสดงสัญลักษณ์ “R" บนบัตรคิวใบสั่งยาด่วน ให้บริการอย่างครบวงจรโดยสามารถคาดคะเนระยะเวลาบริการได้ ทำให้ผู้บริการไม่ต้องเสียเวลารอ อีกทั้งยังเชื่อมั่นได้ว่า “ถูกคน ถูกต้อง ปลอดภัย” แม้ใช้ระบบแสดงเลขคิวแทนการเรียกชื่อ แต่เมื่อผู้ป่วยรับยา เภสัชกรจะมีการทวนชื่อ-นามสกุลของผู้ป่วยก่อนรับยาทุกครั้ง
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้เวลากับผู้รับบริการในการรับคำปรึกษาเรื่องการใช้ยาโดยตรงเพิ่มเติม โดยได้จัดให้มีห้องให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาเป็นรายบุคคลเพื่อให้การดูแลเป็นกรณีพิเศษ จนผู้รับบริการเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับบ้านไปใช้ยาตามคำแนะนำของเภสัชกรได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย อีกทั้งยังมีคิวอาร์โค้ดบนซองยาที่เชื่อมโยงข้อมูลยา ระบุการใช้ยาโดยละเอียด
ซึ่งผู้รับบริการสามารถโหลดแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา และใช้สมาร์ตโฟนสแกนอ่าน และทำความเข้าใจข้อมูลยาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยจะมีข้อมูลประวัติการใช้ยาจากโรงพยาบาลที่มีการปรับปรุงข้อมูลของผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบัน และมีการให้ความรู้ด้านยาที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ กรณีเกิดการแพร่สะพัด “ข่าวลวง” เรื่องการใช้ยา ตลอดจนการวางระบบ “เรียกยาคืน” กรณียามีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบคิวจัดยาใหม่นี้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับผู้รับบริการโรงพยาบาลศิริราช โดยไม่ยินยอมที่จะทำให้ความผิดหวัง หรือความสูญเสียใดๆ เกิดขึ้น และพร้อมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก้าวต่อไปจะพัฒนาให้ทั้งโรงพยาบาลมีคิวเดียว ทั้งลำดับการเข้ารับการตรวจ การรับผลจากห้องปฏิบัติการ และการรับยา เพื่อสนองความต้องการของผู้รับบริการให้ได้มากที่สุด และพร้อมดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ