กฟผ. หนุนเศรษฐกิจ BCG ชูโครงการต้นแบบ Bang Kruai Green Community มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular - Green Economy: BCG) ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ชูโครงการต้นแบบ Bang Kruai Green Community มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทย TBCSD นำงานวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่สังคมคาร์บอนต่ำ และยั่งยืน” โดยร่วมเสวนาในหัวข้อ “ภาคธุรกิจไทยกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular - Green Economy: BCG)” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” (Thailand Research Expo 2022) ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร เปิดเผยว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานด้านพลังงาน ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยมีการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ BCG ในทุกมิติของประเทศ ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
โดยที่ผ่านมา กฟผ. ปรับแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid) การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) อาทิ Digital Substation, Demand-Response, RE Forecast และเดินหน้าศึกษาวิจัยการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Future Technology และพลังงานสะอาด เช่น Plasma Fusion, การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า (SCO2)
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมุ่งมั่นในการผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอนร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565-2574) และวางแผนเพิ่มกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อย CO2 ที่เป็นรูปธรรม ภายในปี พ.ศ. 2573 คาดว่าสามารถลดการปล่อย CO2 5,627 กิโลตัน CO2 ต่อปี และช่วยลดพลังงานไฟฟ้าลง 17,406 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายใต้โครงการสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 โครงการ Energy Solution Service Platform 2)ด้านการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิง ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ EV Ecosystem 3)ด้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน โดยเร่งดำเนินการโครงการต้นแบบ Bang Kruai Green Community ด้วยหลักคิด Smarter, Greener และ Together พัฒนาพื้นที่ชุมชนสีเขียว นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้นำร่องในชุมชน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน
“กฟผ. ตั้งมั่นว่าจะร่วมผลักดันงานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ของ กฟผ. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมนำหลักการ BCG มาปรับใช้บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรและพลังงานภายในองค์การอย่างคุ้มค่า เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์การเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Organization ในอนาคต อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่จะกลับมาสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป” นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร กล่าวย้ำ