December 27, 2024
01Top_Nine-Plus

นักศึกษา ม. มหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศ James Dyson Award ประจําปี 2567

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

นักศึกษา ม. มหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศ James Dyson Award ประจําปี 2567

เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อในระดับนานาชาติ

          Carbon Polymerizing System ผลงานจากทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศในการแข่งขัน James Dyson Award ในปีนี้ โดยผลงานนี้คือระบบการผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากขยะอาหาร โดยทีมผู้คิดค้น Carbon Polymerizing System จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป

           นักประดิษฐ์ทีมผู้ออกแบบ Carbon Polymerizing System ประกอบด้วย สุเมธ กล่อมจิตเจริญ , สหรัถ ชวฤชัย และ กัลยพัชร์ พลอยประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทีมของเรามีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมองเห็นถึงปริมาณคาร์บอนจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ และเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ทีมผู้ออกแบบจึงสร้างนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนขยะอาหารหรือแหล่งคาร์บอนอื่น ๆ ให้เป็นพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          สำหรับ Carbon Polymerizing System หรือ ระบบการผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติ เป็นนวัตกรรมดักจับโมเลกุลคาร์บอนเพื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า PHB ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ทั่วไปจนถึงวัสดุทางการแพทย์ โดยระบบจะใช้แบคทีเรียเปลี่ยนคาร์บอนที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น น้ำเสียจากน้ำผลไม้ ชีวมวลผักและผลไม้ หรือแม้แต่ก๊าซเรือนกระจก ให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและปลอดภัย โดยใช้ระยะเวลาย่อยสลายในดินประมาณ 2 สัปดาห์ ต่างกับพลาสติกชนิดอื่นที่อาจใช้เวลาย่อยสลายในป่านานถึง 80 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดคาร์บอนที่เป็นอันตรายในอากาศ แต่ยังส่งผลให้วัสดุไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม

          ระบบจะทำงานอัตโนมัติโดยใช้ระบบควบคุมแบบเรียลไทม์ หรือ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) เพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะอาด ด้วยการจัดการกระบวนการทั้งหมดมีการติดตามผลแบบเรียลไทม์ ช่วยลดของเสียและมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งแนวทางนี้ไม่เพียงแค่ลดการปล่อยคาร์บอน แต่ยังกำจัดคาร์บอนจากบรรยากาศมากกว่าที่ปล่อยออกมาอีกด้วย

          สหรัถ ชวฤาชัย หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ออกแบบ Carbon Polymerizing System กล่าวว่า “การแข่งขัน James Dyson Award มอบโอกาสให้พวกเราได้นำเสนอนวัตกรรม ซึ่งพวกเราเชื่อว่ารางวัลนี้จะช่วยให้นวัตกรรม Carbon Polymerizing System เป็นที่รู้จักในตลาดและสร้างประโยชน์ให้กับโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้พวกเรายังอยากให้นวัตกรรมนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ หันมาสนใจใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในโลกของเราต่อไป

          James Dyson Award คือ การแข่งขันด้านการออกแบบระดับนานาชาติที่จะให้รางวัล สนับสนุน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับวิศวกรออกแบบรุ่นใหม่ โดยในปีนี้มีการดำเนินการใน 29 ประเทศ และสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 400 รายการ ด้วยเงินรางวัลกว่า 44 ล้านบาท ดำเนินการโดยมูลนิธิ James Dyson Foundation ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านการศึกษาด้านวิศวกรรมของ Sir James Dyson ซึ่งในปีนี้ประกวดในหัวข้อ ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยปัญหานี้อาจเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันหรือเป็นปัญหาระดับโลกก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือวิธีการแก้ปัญหาต้องมีประสิทธิภาพและแสดงให้เห็นถึงการคิดเชิงออกแบบ

Page Visitor

013104719
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
28
18322
98374
407233
505277
13104719
Your IP: 18.219.107.243
2024-12-27 00:08
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.