GUNKUL ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าครบ 1,000 เมกะวัตต์
GUNKUL ประกาศรุกธุรกิจพลังงานเต็มสูบ ลั่นอีก 2 ปีข้างหน้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าครบ 1,000 เมกะวัตต์ ตอกย้ำฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เตรียมทุ่มงบ 20,000 ลบ. ผลิตไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ 8,000 ลบ. ส่วนปี 63 คาดตัวเลขแตะ 10,000 ลบ.
คุณโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL
คุณโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าครบ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2564 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 600 เมกะวัตต์ โดยในปี 2564 บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุน 20,000 ล้านบาทสำหรับผลิตไฟฟ้าจำนวน 400 เมกะวัตต์ ในรูปแบบการพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง การเข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอื่นๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนของบริษัทเองประมาณ 25% คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท และหากแบ่งการลงทุนออกเป็นปีจะอยู่ที่ 2,500 ล้านบาทต่อปี สำหรับเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดที่จะได้จากการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าสู่ระบบแล้ว, ผลประกอบการที่มาจากงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า บริษัทยังมี เงินสดจำนวน 300 ล้านบาทที่เหลือจากการขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 2,800 ล้านบาท รวมถึง วงเงินการออกหุ้นกู้ที่ยังเหลืออีกกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการใหญ่ๆ ต่อไป
“เรามีความมั่นใจในฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้โครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจำนวน 400 เมกะวัตต์ในระยะเวลาอีก 2 ปีข้างหน้าดำเนินการไปได้ด้วยดี โดยเม็ดเงินจะมาจากหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 300 เมกกะวัตต์ในปัจจุบัน หรือ จากการระดมทุนจากการขายหุ้นกู้ที่ยังเหลืออีกกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถตอบโจทย์โครงการใหญ่ๆ ของเราได้เป็นอย่างดี เป็นต้น” คุณโศภชากล่าว
คุณโศภชา กล่าวต่อว่า ในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าอัตราการเจริญเติบโตเพิ่ม 25% จากปีที่ผ่าน โดยสัดส่วนจะมาจากธุรกิจพลังงานกว่า 50% และที่เหลือจะมาจากธุรกิจเทรดดิ้งและรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจในเป้าหมายดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ณ ไตรมาส 2/2562 บริษัทมีรายได้รวมเกือบ 3,200 ล้านบาท ส่วนในงวดไตรมาส 3/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หากรวมรายได้ทั้ง 3 ไตรมาสจะอยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท ส่วนรายได้ที่เหลือประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท คาดว่าจะ ทยอยเข้ามาในงวดไตรมาส 4/2652
ส่วนงานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog ณ ไตรมาส 3/2562 มีอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานของภาครัฐ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการประมูลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในไตรมาส 3/2562 และ 4/2562 มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถชนะการประมูลในโครงการใหญ่ๆ จะช่วยสนับสนุนให้งานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog เพิ่มขึ้นแตะระดับ 8,000-10,000 ล้านบาท
“เรามีแผนที่จะเข้าไปประมูลงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายโครงข่ายของระบบไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย งานสายส่ง งานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล หรืองานวางสายเคเบิ้ลใต้ดิน เป็นต้น เพื่อผลักดันให้งานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท รวมทั้ง สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในปีนี้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพอีกด้วย” คุณโศภชากล่าว
ขณะที่ รายได้รวมในปี 2563 บริษัทมองว่าน่าจะมีโอกาสแตะที่ 10,000 ล้านบาท หรือมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 20% โดยสัดส่วนรายได้หลักจะยังมาจากธุรกิจพลังงาน 50% คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าประมาณ 35% และอีกกว่า 15% จะมาจากธุรกิจผลิตและจัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า โดยเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัททั้งในด้านรายได้รวมและงานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog
คุณโศภาชา กล่าวต่อถึงภาพรวมของธุรกิจพลังงานทดแทนว่า มีการแข่งขันสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทมีจุดแข็งและมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ดำเนินการในโครงการต่างๆ และมีความน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า นอกจากนี้ มีประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานทดแทนกว่า 9 ปี ซึ่งทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีศักยภาพ รวมถึงการให้ความสำคัญในการบริการและดูแลลูกค้าหลังการขายอีกด้วย
ด้านแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของโลก และเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่จะก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน โดยบริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ทกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบไร้ตัวกลาง หรือ Peer to Peer (P2P) รวมถึงสมาร์ทกริดและองค์ความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับพลังงานทดแทน เช่น ระบบการกักเก็บพลังงานที่ใช้ร่วมกับโครงการพลังงานลมเพื่อเพิ่มคุณภาพไฟฟ้าและโครงการด้านพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย 1. วิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ และ/หรือแอปพลิเคชัน รวมถึงฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับระบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไร้ตัวกลาง หรือ Peer to Peer (P2P) รวมถึงการพัฒนา Platform อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 2. ทดลองและทดสอบระบบที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ทั้งในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร พื้นที่ของบริษัทและพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3. ร่วมกันเผยแพร่ผลการศึกษา วิจัย และพัฒนาสู่สังคมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
คุณโศภชา กล่าวในตอนท้ายถึงสิ่งที่อยากจะฝากถึงกลุ่มลูกค้าว่า กันกุลเป็นบริษัทที่ค่อนข้างครบวงจร โดยมีทั้งอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า เทคโนโลยี บุคลากรที่มีคุณภาพ ความแข็งแกร่งทางการเงิน รวมทั้ง มีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจที่มายาวนานกว่า 36 ปี บริษัทมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี พร้อมทั้ง ยังมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทีมผู้บริหารสูงสุดได้มีการหารือและร่วมกันวางแผนกับผู้บริหารถึงแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจ ดังนั้น จึงขอให้ลูกค้าที่จะมาใช้บริการของบริษัทมีความมั่นใจในประสบการณ์คุณภาพของสินค้าและบริการของบริษัท