ฮานามิ ฟู้ดส์ ผุดอาคารใหม่เสริมแกร่งธุรกิจ
ฮานามิ ฟู้ดส์ ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ สแน็คแจ๊ค (Snack Jack) เนรมิตรอาคารหลังใหม่ ด้วยงบลงทุน 200 ลบ. หนุนกำลังการผลิตพุ่งอีก 50% รองรับการเติบโตในอนาคต บวกตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
คุณธีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮานามิ ฟู้ดส์ จำกัด
คุณธีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮานามิ ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ สแน็คแจ๊ค (Snack Jack) กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารใหม่ บนพื้นที่ เกือบ 3 ไร่ ซึ่งใช้งบลงทุน 200 ล้านบาท (ค่าที่ดินและก่อสร้าง) และเริ่มดำเนินการในไตรมาส 3/2562 โดยเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 คลังเก็บสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ ส่วนชั้น 2 และ 3 เป็นสายการผลิต คาดว่าโครงสร้างอาคารจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 ส่วนการตกแต่งภายในและการวางระบบ จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3/2563 ต่อจากนั้นจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปีเดียวกัน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เนื่องจาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้มีการพัฒนารสชาติผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรสชาติดั้งเดิมที่ทุกคนคุ้นชิน และรสชาติใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อาทิ รสบาร์บีคิว, รสไก่แซ่บ, รสวาซาบิ, รสเห็ดหอม และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขยายตัวและเติบโตมากยิ่งขึ้น จึงทำให้โรงงานเดิมมีปัญหาเรื่องพื้นที่ซึ่งมีจำกัด
รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้า อย่างเช่น กลุ่มโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ได้เปลี่ยนนโยบายการสั่งซื้อสินค้าที่จากเดิมจะสั่งสินค้าจำนวนมากๆ เพื่อสต็อก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการสั่งหลายครั้งต่อสัปดาห์ ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บสินค้าให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน หากอาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้บริษัทมีพื้นที่ในการทำงาน และเพิ่มพื้นที่สำหรับเก็บสินค้าได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากโรงงานแห่งใหม่จะสร้างเชื่อมต่อกับโรงงานเดิมที่มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ทำให้สามารถรองรับการผลิตที่รวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
“เมื่ออาคารหลังใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นอีก 50% ซึ่งจะสนับสนุนและผลักดันให้ธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น และมีกำลังการผลิตอย่างเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ รวมทั้ง การขยายฐานการส่งออกด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน ได้เริ่มขยายการส่งออกไปยังประเทศเมียนมประเทศเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศยังถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับตลาดภายในประเทศ แต่เราก็พยายามที่จะเติบโตต่อไปมากขึ้นเพราะต้องใช้เวลาเพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น” คุณธีระกล่าว
นอกจากการก่อสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตและรองรับความต้องการของลูกค้าแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญในการปรับสมดุลภายในองค์กร ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับยุค 4.0 มากยิ่งขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ๆ เข้ามาในสายการผลิตเพื่อใช้ในการคำนวณสูตรการผลิต อีกทั้ง ยังช่วยลดการใช้แรงงานคน ซึ่งขณะนี้ แรงงานไทยค่อนข้างขาดแคลน ปัจจุบันบริษัทใช้แรงงานคนไทย 100%
คุณธีระ กล่าวต่อว่า สำหรับผลประกอบการในปี 2562 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมใกล้เคียงกับปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสัดส่วนรายได้หลักจะมาจากตลาดภายในประเทศ เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบการส่งออกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวถือว่าส่งผลดีต่อบริษัทในด้านการนำเข้าวัตถุดิบ เพราะบริษัทใช้ถั่วลันเตาที่นำเข้าจากประเทศแคนาดา 100% จึงช่วยลดต้นทุนได้ในบางส่วน
ด้านจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ บริษัทจะเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ เฮลตี้ สแน็ค (Healthy Snacks) ซึ่งวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตมากที่สุดคือ ถั่วลันเตาเขียว และถั่วทอง เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีโปรตีนสูงและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสามารถรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และยังสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าด้วยมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) และมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ทั้งนี้ จากจุดเด่นที่กล่าวมาส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความแตกต่างจากขนมขบเคี้ยวทั่วไปและได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี
คุณธีระ กล่าวต่อถึงสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนว่า รัฐบาลควรชี้แจงถึงทิศทางของเศรษฐกิจพร้อมทั้งกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และวางแผนสำหรับการรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เพราะอุตสาหกรรมอาหารถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ยังสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้