ลลิลตั้งเป้ายอดขาย 5,300 ลบ. มั่นใจผลงานเข้าเป้า
ลลิลประกาศโกยยอดขายปีนี้ 5,300 ลบ. บวกรายได้รวม 4,650 ลบ. มั่นใจผลงานเข้าเป้า ด้วย Backlog จำนวน 1,200 ลบ. ที่ทยอยรับรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมอัพเดทโปรเจคคุณภาพ ลลิล ทาวน์ อ่อนนุช-สุวรรณภูมิ ขณะนี้มียอดขายทาวน์โฮมประมาณ 100 หลัง และบ้านเดี่ยวประมาณ 30 หลัง ลั่น 3 ปีปิดการขาย 100%
คุณชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
คุณชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ "บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี" กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 5,300 ล้านบาท และตั้งเป้ารับรู้รายได้ 4,650 ล้านบาท โดย 9 เดือนแรกมียอดขาย อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท เช่นเดียวกับการรับรู้รายได้ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ มียอดรับรู้รายได้แล้ว 3,393 ล้านบาท ซึ่งยังคงเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12%
ส่วนตัวเลขรับรู้รายได้ที่เหลืออีกประมาณ 1,200 ล้านบาท คาดว่าในไตรมาส 4/2562 น่าจะเป็นไปตามการคาดการณ์ เนื่องจาก บริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้หรือ Backlog ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาทจาก 30 โครงการ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าภาพรวมของทั้งปีนี้จะสามารถทำผลงานขยายตัวได้ดีกว่าภาพรวมของตลาดและเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
ด้านความคืบหน้าของโครงการลลิล ทาวน์ อ่อนนุช-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบ “มิกซ์ยูส (Mixed-use)” ประกอบด้วย 2 แบรนด์ ได้แก่ Lio BLISS อ่อนนุช–สุวรรณภูมิ (ทาวน์โฮม) และ Lanceo CRIB อ่อนนุช–สุวรรณภูมิ (บ้านเดี่ยว) มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท โดยบริษัทได้เปิดตัวและเปิดการขายเมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน มียอดขายทาวน์โฮมประมาณ 100 หลัง และบ้านเดี่ยวประมาณ 30 หลัง พร้อมทั้งตั้งเป้าปิดยอดขาย 100% ภายในระยะเวลา 3 ปี
สำหรับแนวคิดของโครงการ Lio BLISS อ่อนนุช–สุวรรณภูมิ (ทาวน์โฮม) คือ การเชื่อมต่อทุกรูปแบบการใช้ชีวิต สัมผัสความสุข ชีวิตใกล้เมือง บนทำเลลาดกระบัง-อ่อนนุช-สุวรรณภูมิ ส่วน แนวคิดของ Lanceo CRIB อ่อนนุช–สุวรรณภูมิ (บ้านเดี่ยว) คือ The Endless Exceptional Life ทุกความสุขของชีวิตเริ่มต้นที่การแบ่งปันกับสังคมคุณภาพในลลิล ทาวน์ (Lalin Town) บ่งบอกชีวิตเหนือระดับด้วยบ้านเดี่ยวแนวคิดใหม่ ตอบโจทย์ทุกฟังก์ชัน โดดเด่นด้วยดีไซน์
ทั้งนี้ ลลิล ทาวน์ อ่อนนุช-สุวรรณภูมิ นับว่าเป็นโครงการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้พักอาศัยได้อย่างลงตัว ด้วยจุดเด่นของโครงการที่ตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพ มีความสะดวกสบายในการเดินทาง เนื่องจาก เส้นทางบริเวณโดยรอบของโครงการเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ และถนนสายสำคัญหลายสาย อีกทั้ง ยังโดดเด่นด้วยราคาที่ลูกค้าสามารถจับจองได้
“โครงการลลิล ทาวน์ เป็นโครงการที่มี 2 แบรนด์อยู่ในโครงการเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพ การคมนาคมสะดวกเชื่อมต่อได้หลายเส้นทาง นอกจากนี้ แหล่งงานในโซนสุวรรณภูมิ-ลาดกระบังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มหาวิทยาลัยลาดกระบัง สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน
ล่าสุด โรบินสัน ลาดกระบัง ได้เปิดตัวไปเมื่อไม่นาน โดยตั้งอยู่หน้าโครงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้ามากกว่าเดิม อีกทั้ง ในโซนวัดศรีวารียังมีช้อปปิ้งมอลล์ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งคอมมิวนิตี้มอลล์ และคิง เพาเวอร์ เมื่อเราทำโครงการนี้ เราจะดูความจำเป็นต่างๆ ทั้งเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่รักษาพยาบาล หรือการเดินทางไปทำงานเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด” คุณชูรัชฏ์กล่าว
ส่วนจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อบ้านของลลิล โดยหลักๆ จะมาจากความคุ้มค่าของสินค้าที่ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทีมอบให้ค่อนข้างครบในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งบริษัทจะมีการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของลูกค้าตั้งแต่วันที่เข้ามาเป็นลูกบ้าน รวมไปถึงหลังการขายว่าจะสามารถดูแลอย่างไรให้มีความสุข นอกจากนี้ ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีศักยภาพอีกด้วย
ด้านแนวทางการทำการตลาด ปัจจุบันจะเน้นสื่อดิจิทัลเป็นหลัก จากเดิมที่จะมีการทำการตลาดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่วนงบมาร์เก็ตติ้งโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณกว่า 100 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 2.5-3% ของเป้ารายได้รวม
คุณชูรัชฏ์ กล่าวต่อถึง มาตรการของภาครัฐ “บ้านดีมีดาวน์” โดยการสนับสนุนเงินดาวน์ (Cash Back) 50,000 บาทให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ว่า นับเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เช่น วัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มเป็นจำนวนมากตามไปด้วยเช่นกัน
ส่วนแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 คาดว่าจะยังทรงๆ ตัวและไม่แตกต่างจากปี 2562 เพราะมีปัจจัยภายนอกเข้ามารุมเร้า เช่น สงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วน 65-70% ของ GDP ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าดรอปไม่มากเพียงแต่ไม่ก้าวกระโดดแบบทุกปี เพราะฉะนั้นจึงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และมาตรการช่วยลดค่าจดจำนองและค่าโอนเหลือ 0.01% ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึง 24 ธันวาคม 2563 เป็นต้น