“ม.มหิดล” ก้าวสู่ 132 ปีแห่งการสถาปนา
ม.มหิดล มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ก้าวสู่ปีที่ 132 ในการก่อตั้ง พร้อมครบรอบ 51 ปีวันพระราชทานนาม เผยทิศทางการดำเนินงาน มุ่งเน้นสร้างบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ พร้อมชูแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี หนุนเป็นแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะยาว
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ก่อกำเนิดมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นจากการเป็นโรงเรียนแพทย์เมื่อปี 2431 และต่อมาได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้รับการพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต ว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อวันที่ 2 มีนามคม 2512 โดยได้มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาแพทยศาสตร์เป็นสาขาแรก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมครบทุกสาขาวิชา
สำหรับในปี 2563 มหาวิทยาลัยได้สถาปนาก้าวสู่ปีที่ 132 แห่งการก่อตั้ง พร้อมทั้งครบรอบ 51 ปีแห่งวันพระราชทานนาม อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นสิ่งสะท้อนไปที่รากเหง้าที่มีการเติบโตมาจากโรงเรียนแพทย์ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี อาทิ โครงการประกวดตราสัญลักษณ์ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการจัดทำเหรียญที่ระลึก 50 ปี, โครงการ 50 บุคคลต้นแบบ 131 ปูชนียบุคคล และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
ด้านทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดลนับจากนี้ เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ซึ่งทำให้ต้องเผชิญกับมิติของการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือความรู้หรืออาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงเล็งเห็นความสำคัญ โดยเร่งปรับตัวและหาแนวทางการรับมือเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
โดยหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย คือ การสร้างบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ มีความสามารถในการใช้ความรู้ และสามารถตอบสนองความต้องการในสายอาชีพตนเองให้ได้ ซึ่งต้องมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ขณะเดียวกันนอกจากมีความรู้แล้ว นักศึกษาต้องมีทักษะควบคู่กันไปด้วย โดยต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะของการนำนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ยังสถานที่จริง เพื่อที่จะได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ในปัจจุบันกลับมา และเตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่กล่าวมา คือ ไม่ได้เน้นเฉพาะความรู้ในห้องเรียน แต่ต้องเน้นทักษะในการทำงานด้วยเช่นกัน
ศ.นพ.บรรจง กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีจุดเด่นและจุดแข็งทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาอย่างยาวนาน โดยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ดังนั้นจึงใช้จุดแข็งให้เป็นเสมือนแม่เหล็กเพื่อผนวกเข้ากับสาขาอื่นๆ อาทิ สังคมศาสตร์ด้านการแพทย์ หรือวิศวกรรมชีวะการแพทย์ เป็นต้น เนื่องจากการทำงานต่อไปในอนาคตไม่ใช่การทำงานเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเท่านั้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือของหลากหลายศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันยังมีปณิธานคือ มุ่งมั่นที่จะเป็นปัญญาของแผ่นดิน โดยการที่จะก้าวสู่การเป็นปัญญาของแผ่นดินได้ จะต้องมีความหลากหลายขององค์ความรู้ที่นำมาบูรณาการตอบโจทย์ที่ซับซ้อนแก่สังคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องส่งเสริมหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้มีการพัฒนาและได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งผลิตบุคลากรออกไปสู่สังคมเพื่อสร้างประโยชน์ให้สมกับความเป็นปัญญาของแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ
ด้านแผนยุทธศาสตร์ เนื่องจาก มหาวิทยาลัยมหิดลมีพันธกิจที่เกี่ยวข้องในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการช่วยเหลือสังคม โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศในด้านต่างๆ อาทิ Research, Teaching & Learning, Services, Policy Advocacy และ Sustainable ดังนั้นจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งใช้เป็นแนวทางการกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะยาว ให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 Global Research and Innovation เป้าประสงค์หลัก คือ World Class Research & Creative Innovation, ยุทธศาสตร์ที่ 2 Academic and Entrepreneurial Education เป้าประสงค์หลัก คือ Graduates with Desired Characteristics of Mahidol University and the World Class Talents, ยุทธศาสตร์ที่ 3 Policy Advocacy and Leaders in Professional/Academic Services เป้าประสงค์หลัก คือ Excellent/Trendsetter Professional and Academic Services for Better Quality of life และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 Management for Self-Sufficiency and Sustainable Organization เป้าประสงค์หลัก คือ Management for Sustainability