November 22, 2024

ฉลอง 118 ปี “กรมชลประทาน” ดันแนวทาง RID No.1 เคลื่อนศักยภาพองค์กร

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

ฉลอง 118 ปี “กรมชลประทาน” ดันแนวทาง RID No.1 เคลื่อนศักยภาพองค์กร

“กรมชลประทาน” ย้ำความสำเร็จ 118 ปี มุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ พร้อมเผยแผนงานระยะสั้น กลาง ยาว สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยแนวทาง “RID No.1

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานวางเป้าหมายระยะยาว ขององค์กรในการพัฒนางานตามภารกิจให้บรรลุผลสำเร็จภายใน 20 ปี ด้วยความท้าทายสำคัญคือ การเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligent Organization) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานในหลายด้าน ซึ่งกรมชลประทานได้กำหนด 4 ช่วงหลัก เพื่อความชัดเจนของเป้าหมายไว้ ได้แก่ 1.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Platform) เพื่อเป็นฐานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการโดยศูนย์ฯ ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) 2.การบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลเดียวกันในการดำเนินภารกิจการคาดการณ์ พยากรณ์สถานการณ์น้ำ

3. การคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินงาน ซึ่งกรมสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่จนได้รับรางวัลในระดับสากล IFIA Special Award for the Best Invention ในงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ จากสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ ผลงานคือ โทรมาตรสำหรับการชลประทาน และ 4. การพัฒนาบุคลากรเป็น Smart Officer ที่มีศักยภาพสูง (High Potential) ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ (Analysis and Synthesis) เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในยุคไทยแลนด์ 4.0

“เรามีกรอบระยะเวลาดำเนินการแบ่งออกเป็น 4 ช่วง สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยตั้งเป้าหมายสู่การเป็น “องค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579” ซึ่งมีการกำหนด Road  Map เป้าหมายการดำเนินงานแต่ละช่วงเป็นเข็มทิศนำทาง เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จที่ส่งต่อไปสู่การพัฒนาระดับประเทศให้บรรลุเป้าหมาย ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ต่อไป” ดร.ทองเปลวกล่าว

ดร.ทองเปลว กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายองค์กรด้วยว่า กรมชลประทานได้วางแผนการดำเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยการนำแนวทาง RID No.1 มาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งแบ่งแผนออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้น “เร่งรัดการดำเนินงานตามแนวทาง RID No.1” เพื่อดำเนินภารกิจให้บรรลุผลบนหลัก “รวดเร็ว ถูกต้อง ตรงเป้า”

โดยกรมชลประทานจะเร่งรัดการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งเร่งรัดงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมกับปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบภายใน โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ตามแนวทาง RID No.1 แล้ว คือมีการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.14 ล้านไร่ มีปริมาตรเก็บกักที่เพิ่มขึ้น 573.65 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 5.05 ล้านไร่ ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปี (2561-2563)

แผนระยะกลาง “สานต่อแนวทาง RID No.1 Express” เป็นแผนที่ต้องดำเนินการแบบเร่งด่วน 6 ภารกิจ 13 กิจกรรมย่อย โดยการพัฒนา ต่อยอด และขยายผล ตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน RID No.1 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว (Express) เป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบเวลาของปีงบประมาณ 2563 บนแนวคิด “ทำงานสุดกำลัง ตั้งมั่นสุจริต ใช้ชีวิตพอเพียง”

สำหรับการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ จำนวนกว่า 216 โครงการ จะมีการพัฒนาต่อยอด เร่งรัดการดำเนินงานในปี 2563 อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จกว่า 19 โครงการ (สชป. รวม 17 โครงการ และ กพก. 2 โครงการ) งานเตรียมความพร้อม 19 โครงการ (สชป. รวม 16 โครงการ กพก. 3 โครงการ) และงานการขับเคลื่อนสู่การเตรียมความพร้อม 14 โครงการ รวม 52 โครงการ

อีกทั้ง กรมชลประทานยังดำเนินการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนในการทำงานชลประทาน พัฒนาต่อยอดโครงการประชารัฐร่วมทุนภาครัฐและเอกชน เพื่อลดข้อจำกัดของ PPP ที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.ชลประทาน 2485 ให้แล้วเสร็จ (คาดแล้วเสร็จปี 2564) เพื่อพัฒนาระบบแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุม โดยได้กำหนดเป้าหมายงานขยายและปรับปรุงพื้นที่จัดระบบชลประทานในไร่นาทั้งหมด จำนวน 86,300 ไร่ ร่วมกับเร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานให้เต็มพื้นที่ชลประทานโดยมีเป้าหมาย จัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน 26 คณะ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 581,435 ไร่ จัดตั้งอาสาสมัครชลประทาน 844 คน ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 2,110,000 ไร่ จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ 1,017 กลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีงานที่สำคัญและท้าทายของกรมชลฯ ในการขับเคลื่อนประเทศ คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรมชลประทานมีแผนการพัฒนาเพื่อรองรับ EEC ระยะ 10 ปี ดำเนินการทั้งหมด 6 แผนงาน โดยขับเคลื่อน 5 แผนงาน เป้าหมายคือ การเพิ่มน้ำให้กับ EEC รวม 354 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังมีแผนงานที่ต้องดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาของ สทนช. ในการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนทั้งแผนงานปี 2563-2570 และแผนงานปี 2571-2580 อีกด้วย

ในส่วนแผนระยะยาว “มุ่งสู่ความมั่นคงด้านน้ำ” โดยกรมชลประทานยังคงดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กระจายไปในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศอย่างเต็มกำลังเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานครอบคลุมองคาพยพของประเทศ “มุ่งสู่ความมั่นคงด้านน้ำ” ตามแนวทางที่วางไว้ ทั้งนี้ หากกรมชลฯ สามารถดำเนินการได้ตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (2560-2579) จะส่งผลให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 13,243 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องพัฒนาอีก 12,669.35 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 17.95 ล้านไร่ ต้องพัฒนาอีก 16.81 ล้านไร่ ตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ

ดร.ทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้แก่ประเทศไทยมาอย่างยาวนานจนประสบความสำเร็จครบรอบ 118 ปี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยในอนาคตยังคงเดินหน้าตามภารกิจตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่วางไว้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในยามขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม เพราะเป้าหมายสูงสุด คือ สร้างความมั่นคงด้านน้ำและลดผลกระทบจากภัยอันเกิดจากน้ำเพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

“ความสำเร็จที่ผ่านมา เกิดจากหลากหลายปัจจัยที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนกรมชลประทาน ให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มุ่งมั่นทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วง ยึดมั่นความสุจริตทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต พร้อมทั้งน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชน” ดร.ทองเปลวกล่าว

Page Visitor

012539078
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
12064
18787
100371
346869
432245
12539078
Your IP: 18.216.70.205
2024-11-22 13:35
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.