November 22, 2024

คิวทีซี ตอกย้ำความแข็งแกร่ง ตุน Backlog กว่า 300 ลบ.

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

คิวทีซี ตอกย้ำความแข็งแกร่ง ตุน Backlog กว่า 300 ลบ.

คิวทีซี ผู้นำในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระดับต้นๆ ในประเทศไทย โชว์ Backlog กว่า 300 ลบ. โดยมีแผนทยอยรับรู้รายได้ปีนี้ 200 ลบ. พร้อมเดินแผนคว้างานตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง หนุนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ส่วนเป้ารายได้ปีนี้คาดการณ์ที่ 1,000 ลบ.

คุณพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวทีซี

คุณพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวทีซี กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog กว่า 300 ล้านบาท โดยมีแผนส่งมอบงานให้แก่ลูกค้าภายในสิ้นปีนี้มูลค่า 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 100 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในปี 2564 ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้รับงานใหม่ๆ อีกหลายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มในส่วนของงานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog อย่างต่อเนื่อง

ส่วนงานในประเทศไทย จากที่คาดหวังว่าจะมีการประมูลงานของการไฟฟ้า แต่ได้มีการเลื่อนการประมูลออกไป เพราะมีปัญหาในเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีงานของภาคเอกชนที่มีโครงการเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทพร้อมเข้าไปประมูล แต่ต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งนี้ หากภาคการท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการได้ คาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาดีขึ้นอย่างแน่นอน

“เรามีเวลาทำงานอีก 3 เดือนของปีนี้ ตั้งแต่ตุลาคม - ธันวาคม ซึ่งปกติ เราจะมียอดขายโดยเฉลี่ยประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน หากเราทำได้ตามนี้ จะส่งผลให้ตัวเลขงานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog ณ สิ้นปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาท โดยยอดขายในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะทยอยส่งมอบงานให้แก่ลูกค้าในปีหน้า เพราะการซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าลูกค้าจะต้องสั่งล่วงหน้าประมาณ 60-90 วัน” คุณพูลพิพัฒน์กล่าว

คุณพูลพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับงานมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทจากลูกค้าญีปุ่น เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ขณะนี้ บริษัทมียอดขายจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 35% ของยอดขายทั้งหมด หรือประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี ขณะที่สัดส่วนยอดขายในประเทศ จะมาจากภาคเอกชนประมาณ 50% โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายได้จากการไฟฟ้าราว 20-30%

นอกจากนี้ ในอนาคต บริษัทมีแผนที่จะขยายต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่น่าสนใจ คือ เกาหลีใต้ และจีน เนื่องจากสินค้ามีมูลค่าสูง ส่วนตลาดที่สร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ให้แก่บริษัท คือ ญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่แบรนด์สินค้าญี่ปุ่น และอันดับ 2 ได้แก่ ออสเตรเลีย ส่วนอันดับ 3 จะอยู่ในแถบอาเซียน เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

สำหรับเหตุผลที่บริษัทให้ความสำคัญในการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจาก มองว่าตลาดมีขนาดใหญ่กว่าในประเทศ ประกอบกับสินค้ามีมูลค่าสูง ทั้งนี้ หากบริษัทมุ่งเน้นทำตลาดในประเทศเป็นหลัก อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจได้ เช่น การเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การค้าขายชงักงัน ประกอบกับ ปัจจุบัน โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและรวดเร็วหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งหมด

“เรามีแผนรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่เราจะไม่ไปผูกติดกับลูกค้ารายใหญ่เพียงรายเดียว เพราะหากเกิดวิกฤต อาจส่งผลกระทบต่อเราได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหาลูกค้ารายใหม่ๆ อยู่เสมอ และต้องดูวิถีทางการตลาดของแต่ละประเทศประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในภาวะขาลง

ส่วนตลาดยุโรป ก่อนหน้านี้เราได้เข้าไปดำเนินการแล้ว ขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในขั้นต่ำมาก เพราะฉะนั้น เราจะโฟกัสตลาดในเอเชียเป็นหลัก โดยเป้าหมายลำดับต่อไป คือการเข้าไปทำตลาดในเกาหลีใต้ และจีน สำหรับงานในต่างประเทศที่เราได้รับส่วนใหญ่จะเป็นงานภาคเอกชน อย่างเช่น งานเหมือง ซึ่งแต่ละโครงการมีมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท เช่น เหมืองหงสา สปป.ลาว เป็นต้น” คุณพูลพิพัฒน์ กล่าว

ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้านับเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และคาดว่ามีงานที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog เป็นตามเป้าหมาย โดยในไตรมาสแรกและสอง มีผลประกอบในระดับที่ดี ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ในปี 2564 อาจได้รับผลกระทบ เพราะคำสั่งซื้อปีนี้จะต้องส่งสินค้าในปีหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ หรือ Backlog รองรับเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้

ขณะที่การรับรู้รายได้ปีนี้ตั้งเป้าอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสัดส่วนรายได้ระหว่างในประเทศ 65% และต่างประเทศ 65% สำหรับรายได้หลักนอกเหนือจากหม้อแปลงไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังรายได้ส่วนอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น รายได้จากโรงไฟฟ้า ขนาด 8.6 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 150-160 ล้านบาทต่อปี, งานเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นตัวแทนจะหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ “Longi Solar” ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งและใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่าปี 2563 จะสร้างได้ราว 30-40 ล้านบาท และเป็นตัวแทนจำหน่าย Huawei Solar Inverter ผลิตภัณฑ์แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ(AC)จากแผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าตัวเลขรายได้ปีจะเป็นตามการคาดการณ์อย่างแน่นอน

คิวทีซี เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย ซึ่งใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรอันก้าวหน้า รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดกระบวนการผลิต หม้อแปลงไฟฟ้าที่ผลิตโดยคิวทีซี จึงเหนือกว่าในด้านคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้รับการดำเนินการและรับรองจากองค์กรด้านมาตรฐานสากลหลายแห่ง ได้แก่ ISO 9001, ISO 14001, OHSAS 18001 และ ISO/IEC 17025 เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพที่เป็นเลิศ

นอกจากนี้ คิวทีซีมุ่งมั่นให้กับการวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับประกันว่าสินค้าจะเป็นสินค้าที่ทันสมัยและเปี่ยมประสิทธิภาพ หม้อแปลงไฟฟ้าคิวทีซี จึงได้ผ่านการทดสอบความทนทานต่อไฟฟ้าลัดวงจรที่เข้มงวด โดย CESI ประเทศอิตาลี และ KEMA ประเทศเนเธอร์แลนด์ นี้คือเหตุผลที่เราเรียกบริษัทว่าคิวทีซี (QTC) อันหมายถึง บริษัทหม้อแปลงไฟฟ้าคุณภาพ

Page Visitor

012542900
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
15886
18787
104193
350691
432245
12542900
Your IP: 18.116.52.43
2024-11-22 18:30
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.