เปิดแผนงานปี 64 “รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี”
รพ.พระปกเกล้า จันทบุรีเผยแผนการดำเนินงานปี 2564 เดินหน้าผลักดันตามวิสัยทัศน์เพื่อก้าวเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง มุ่งเน้นพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 5 ด้าน บวกเพิ่มศักยภาพการบริการ เร่งดำเนินการ 2 เรื่องหลัก ลดแออัด-ลดรอคอย, เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย มุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างครอบคลุม
นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 755 เตียง ให้บริการครอบคลุมในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ จันทบุรี ระยอง สระแก้ว และตราด เป็นต้น โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัย ระดับตติยภูมิชั้นสูง ที่ประชาชนศรัทธา นำไปสู่การพัฒนาประเทศ”
ทั้งนี้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง ดังนั้นในปี 2564 จึงได้จัดทำแผนเพื่อพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านโรคมะเร็ง ซึ่งโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งเดียวในภาคตะวันออกที่มีเครื่องฉายแสง ปัจจุบันมีอยู่ 1 เครื่อง เฉลี่ยการใช้งานประมาณ 70 รายต่อวัน และขณะนี้ได้ทำการติดตั้งเครื่องที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐาน คาดเปิดใช้งานได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะสามารถฉายแสงให้แก่คนไข้ได้มากกว่า 100 รายต่อวัน
2. ด้านโรคหัวใจ โดยโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลที่ให้การดูแลเรื่องโรคหัวใจเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งจากเดิมที่มีปัญหาเรื่องการรอคิวนาน เนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสวนหัวใจทั้งหมด 3 เครื่อง ส่งผลให้ช่วยร่นระยะเวลาในการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น
3. ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน ขณะนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างของแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งชั้น และที่สำคัญจะสร้างห้อง Negative Pressure เพื่อรองรับสถานการณ์ Covid-19 ปัจจุบันได้มีการออกแบบโครงสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 5 ล้านบาท (มาจากเงินบำรุงและเงินบริจาค)
ขณะเดียวกัน มีแผนเพิ่มอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย รองรับการให้บริการฉุกเฉินแบบใหม่ อาทิ การให้บริการ Telemedicine (เทเลเมดิซีน) รวมถึง อุปกรณ์อื่นๆ รองรับการรักษาผู้ป่วย Covid-19 พร้อมทั้ง เพิ่มศูนย์บัญชาการในเรื่องอุบัติเหตุฉุกเฉิน และเพิ่มรถรถฉุกเฉิน (Ambulance) โดยได้ใช้งบเพื่อซื้อรถฉุกเฉินใหม่ 10 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการปรับปรุงพัฒนาแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564
4. ด้านทารกแรกเกิด ปัจจุบันมุ่งเน้นขยายในส่วนของห้องผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (NICU : Neonatal Intensive Care Unit) โดยเพิ่มอีกประมาณ 8-10 เตียง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 เตียง เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564
5. ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยโรงพยาบาลได้มีการออกไปเชิญชวนประชาชนให้แจ้งความจำนงในการบริจาคอวัยวะ ซึ่งส่วนนี้ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้ง มุ่งพัฒนาทีมแพทย์ให้มีความสามารถในการปลูกถ่ายไตและปลูกถ่ายกระจกตา จากเดิมที่ดำเนินการไม่ได้ คาดว่าจะพัฒนาได้ภายในปีงบประมาณ 2564 หรืออย่างช้าไม่เกินปีงบประมาณ 2565
“ปัจจุบันเรามีความโดดเด่นในด้านโรคมะเร็ง และด้านโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม การที่เราจะก้าวเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง ก่อนอื่นเราต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้าน ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งถ้าหากเราดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในแต่ละด้านให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ โดยเป้าหมายสูงสุดของเรา คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนลดป่วยและลดตาย” นพ.ธีรพงศ์กล่าว
ขณะเดียวกัน ในปี 2564 โรงพยาบาลยังมุ่งเน้นดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ลดแออัด-ลดรอคอย โดยได้ดำเนินการในหลายๆ ส่วน อาทิ สร้างโรงพยาบาลเมือง ระดับปฐมภูมิขึ้นมาอีก 2 แห่ง เพื่อช่วยดูแลคนไข้ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีที่มีความซับซ้อนน้อย, จัดทำระบบคิว, ระบบรับยาทางไปรษณีย์ และเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล เป็นต้น
2. เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย อาทิ การเปิดห้องพิเศษเพิ่ม, เปิด OR เพิ่ม, Clinical Research Center, ให้บริการตรวจสุขภาพ และให้บริการการแพทย์แผนไทย เป็นต้น รวมถึง การลดรายจ่าย โดยโรงพยาบาลได้จัดทำการอนุรักษ์พลังงาน ลดการใช้กระดาษ และ 5ส เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 โรงพยาบาลมีแผนที่จะสร้างอาคารผ่าตัด โดยเป็นอาคาร 8 ชั้น ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดโดยเฉพาะ ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลมีห้องผ่าตัดเพิ่มประมาณ 20-30 ห้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของบประมาณ พร้อมทั้ง เริ่มเคลียร์พื้นที่และทำการรื้อถอนตึกเก่าเพื่อใช้ในการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี