“GIT” เดินหน้าแผนงานปี 64
GIT เปิดแผนงานปี 2564 มุ่งยกระดับมาตรฐานและรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมเร่งผลักดันสินค้าให้เกิดมูลค่าเพิ่ม บวกเตรียมความพร้อมจัดงานใหญ่ปลายปีนี้
คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวถึงแผนการดำเนินงานปี 2564 ว่า GIT ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานและรับรองคุณภาพอัญมณีและโลหะมีค่า หรือ “GIT Standard” ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง หรือกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในด้านนี้ ซึ่งอาจจะมีห้องปฏิบัติก่อตั้งขึ้นมาหลายแห่ง แต่ยังไม่มีมาตรฐานเพียงพอ และส่งผลให้เกิดปัญหาต่อผู้ซื้อได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ดังนั้น GIT จึงได้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวขึ้นมา ปัจจุบันได้ทำประชาวิจารณ์กับกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกๆ ฝ่าย โดยจัดทำมาตรฐานทั้งในส่วนของห้องปฏิบัติการ รวมถึง รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เบื้องต้นผลักดันในกลุ่มไพริณ ทับทิม หยก และมรกต พร้อมทั้ง อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิด้านอัญมณีศาสตร์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่กำลังผลักดันในปัจจุบัน โดยร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช.
นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น GIT จึงจัดทำโครงการเสริมสร้างความรู้ โดยจัดทำหลักสูตรที่ตอบโจทย์กับตลาด และสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยจัดทำหลักสูตรเฉพาะในด้านใดด้านหนึ่ง จัดทำระบบ GIT e-Learning มุ่งเน้นการฝึกอบรมแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้ง ได้จัดทำระบบ e-Library และระบบ Virtual Museum
ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายปี 2564 GIT ยังมุ่งเน้นจะผลักดันใน 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1.เทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้ได้กำหนดวันจัดงานที่ชัดเจนแล้ว คือ วันที่ 2-6 ธันวาคม 2564 และ 2.GIT’s World Jewelry Design Awards 2021 ภายใต้แนวคิด Intergeneration Jewelry ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยถือเป็นโครงการเพิ่มโอกาสและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการไทยสู่การประกวดการออกแบบเครื่องประดับระดับโลก ซึ่งผู้ชนะจะได้รับโล่พระราชทานพร้อมเงินรางวัล และนำผลงานไปจัดแสดงในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์
คุณสุเมธ กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบมากพอสมควรต่อธุรกิจอัญมณีทั้งในภาพรวมและผู้ประกอบการ สำหรับอัญมณีถือได้ว่าเป็นสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากรถยนต์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งในปีที่ผ่านมายังคงสามารถบริหารจัดการได้โดยเป็นผลมาจากราคาทองที่พุ่งสูงขึ้น แต่ถ้ามองในภาพรวมของอัญมณีทั้งหมดติดลบกว่า 40% อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อมั่นว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังจากมีการฉีดวัคซีน และรัฐบาลควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคให้ดีขึ้น
โดยที่ผ่านมา GIT ได้จัดทำโครงการเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับด้วยนวัตกรรม (Beyond Jewelry) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันและพัฒนาเครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และนักออกแบบในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ นำนวัตกรรมกำจัดฝุ่น PM2.5 หรือป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 มาใช้เป็นส่วนประกอบทำเครื่องประดับ เพื่อช่วยฟอกอากาศให้คนที่สวมใส่ อีกทั้ง ยังถือเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่อไป