“สทนช.” เดินหน้าแผนงานปี 66
สทนช. เปิดแผนการดำเนินงานปี 2566 เร่งจัดทำผังน้ำให้แล้วเสร็จครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ มุ่งพัฒนาบุคลากร ปรับโครงสร้างขององค์กร ขับเคลื่อนด้านงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมเร่งผลักดันด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ บวกปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของ สทนช. ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรชั้นนำในอาเซียนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างบูรณาการบนหลักธรรมาภิบาลภายในปี 2570”
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. เน้นการวางรากฐานนำไปสู่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งจากระดับล่างขึ้นบน เช่น โครงการการเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำระดับลุ่มน้ำ โครงการจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำ การอนุญาตการใช้น้ำ และทะเบียนแหล่งน้ำ เป็นต้น
สำหรับแผนการดำเนินงานของ สทนช. ในปี 2566 คือ เร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำให้แล้วเสร็จครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งมีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองด้วยเช่นกัน ปัจจุบันได้จัดทำผังน้ำเสร็จไป 8 ลุ่มน้ำ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 6 ลุ่มน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ส่วนที่เหลืออีก 8 ลุ่มน้ำ ที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการโดยจะเร่งดำเนินการในส่วนของปีงบประมาณ 2566 และพยายามจะผลักดันให้แล้วเสร็จในปี 2566 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำ จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี
อีกส่วนที่สำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อให้รองรับกับภารกิจของ สทนช. ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งผู้อำนวยการประจำลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เนื่องจากปัจจุบัน สทนช. ได้ดำเนินงานเพียง 4 ภาคเท่านั้น คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนที่สำคัญจริงๆ คือ การเข้าไปดำเนินงานในลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เพื่อกระจายการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนได้อย่างครอบคลุม
ขณะเดียวกัน ด้านงานวิจัยต่างๆ ที่จะพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อนำมารองรับกับการดำเนินงานของ สทนช. ซึ่งในปี 2566 จะผลักดันในส่วนที่มีความร่วมมืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานทั้งภายใน หรือภายนอกประเทศ เพื่อมุ่งขับเคลื่อนนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นในการดำเนินงาน รวมทั้ง ต่อยอดผลงานที่ผ่านมาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านการร่วมมือระหว่างประเทศ สทนช. ต้องเร่งมือเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้เริ่มสั่งการไปยังหน่วยงานภายใน คือ กองการต่างประเทศ ให้เข้าขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องขององค์ความรู้ เทคโนโลยี หรือขับเคลื่อนในโครงการกองทุนน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของ สทนช. จึงได้ปรับยุทธศาสตร์ โดยมีวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรชั้นนำในอาเซียนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างบูรณาการบนหลักธรรมาภิบาลภายในปี 2570” มีประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ สทนช. ได้ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยได้มีการบริหารงานตามแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ราชการ 4.0 ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยมีแนวคิดดังต่อไปนี้ 1. เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน (Open & Connected Government) 2. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government) และ 3. มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government)
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สทนช. ดำเนินงานครบรอบ 5 ปี พร้อมก้าวย่างสู่ปีที่ 6 โดยในวาระครบรอบ 5 ปี สทนช. ได้จัดกิจกรรมพิธีทำบุญในช่วงเช้า สำหรับบุคลากรทุกระดับภายในหน่วยงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่องค์กร ให้เกิดขวัญและกำลังใจในการร่วมกันปฏิบัติงาน และพร้อมขับเคลื่อนงานในอนาคต ขณะเดียวกัน เนื่องจาก สทนช. ได้ดำเนินงานตามภารกิจมาแล้ว 5 ปี จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดกิจกรรม เพื่อสรุปผลการดำเนินงานและนำเสนอแผนงานให้สาธารณชนได้รับทราบการดำเนินงาน
รวมทั้งผลงานของ สทนช. ในห้วงเวลาที่ผ่านมา และแนวทางบูรณาการขับเคลื่อนงาน ร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำทั้งในและต่างประเทศในระยะต่อไป โดยได้จัดบอร์ดแสดงผลงานใน 4 ด้าน พร้อมทั้ง มีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ โดยเชิญบุคคลภายนอก รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ เข้าร่วมงาน ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 1 ท่าน โดยมีผู้เข้าร่วมงานที่มาจากหน่วยงานภาคี ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิใน กนช. นักวิชาการด้านน้ำ สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ สทนช. โดยถ่ายทอดผ่าน Facebook Live Streaming แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ และประชาชนโดยทั่วไป