รพ.นพรัตน์ราชธานีปักหมุดการดำเนินงาน มุ่งเพิ่มศักยภาพสู่การรักษาแบบครบวงจร
เปิดวิสัยทัศน์ “ผอ. รพ. นพรัตน์ราชธานี” เดินหน้าภารกิจหลัก เน้นดูแลรักษาคนไข้ทุกระดับในเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก เผยแผนการดำเนินงาน เร่งเพิ่มขีดความสามารถพิชิตทุกโรค ทุกแขนง ยกระดับให้บริการรักษาแบบครบวงจร ควบคู่กับการเป็นโรงเรียนแพทย์ แหล่งการเรียนรู้ การศึกษาของแพทย์และพยาบาล ตอกย้ำจุดเด่นมีความแข็งแกร่งในด้านอาชีวเวชศาสตร์ บวกมีความรู้ ความชำนาญในด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชูรถฟอกไตเคลื่อนที่คันแรกของไทยและอาเซียน หนุนคนไข้ล้างไตได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า “โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีภารกิจหลัก คือ การดูแลรักษาในทุกโรคให้แก่ประชาชาชนในเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก และให้ได้รับการบริการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลทั่วไป โดยดูแลคนไข้ทุกระดับตามสิทธิบัตรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น คนไข้บัตรทอง หรือ “สิทธิสปสช”, คนไข้สิทธิประกันสังคม, คนไข้สิทธิข้าราชการ, คนไข้อื่นๆ ที่จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง รวมถึง คนไข้แรงงานต่างด้าว ทั้งที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”
โดยปัจจุบันโรงพยาบาลมีอัตราการตรวจคนไข้นอกประมาณ 3,000-4,000 คนต่อวัน ขณะที่ จำนวนคนไข้ในจะผันแปรตามจำนวนคนไข้นอกที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลมีเตียงคนไข้ 601 เตียง ถือได้ว่ายังไม่เพียงพอกับจำนวนคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา เนื่องจากในเขตกรุงเทพฯ ตะวันออกมีประชากรค่อนข้างหนาแน่น จึงส่งผลให้มีจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในการบริหารจัดการได้ตามสมควร โดยจะพยายามดำเนินการให้ได้ดีที่สุด ทั้งนี้ เนื่องด้วยโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลของภาครัฐ ดังนั้น จึงมีบริบทที่แตกต่างกับโรงพยาบาลเอกชน ทั้งในเรื่องของการเพิ่มจำนวนเตียงคนไข้ หรือการปรับปรุงในด้านต่างๆ เป็นต้น
ส่วนแนวทางการพัฒนาโรงพยาบาลในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะขยายศักยภาพการบริการรักษาให้ครบวงจรมากที่สุด เนื่องจากศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถรักษาการเจ็บป่วยได้ทุกโรคได้อยู่แล้ว แต่ในโรคที่มีการรักษายากมากๆ ต้องใช้ทรัพยากรสูงๆ และต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่โรงพยาบาลอยากจะดำเนินการ ทั้งนี้ หากรักษาโรคยากๆ ได้มากเท่าใด จะสะท้อนถึงศักยภาพของโรงพยาบาลที่จะสามารถดูแลคนไข้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“ขณะนี้ เราพยายามพัฒนาเรื่องการรักษาโรคหัวใจให้ได้มากยิ่งขึ้น เราได้เริ่มต้นไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่การรักษาโรคหัวใจที่ยากๆ มากขึ้น ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้น เรายังไปไม่ถึงขนาดนั้น แต่เรากำลังพัฒนากันอยู่ เรามีห้องฉีดสีหัวใจ มีห้องผ่าตัดที่สามารถผ่าตัดหัวใจได้ สามารถทำบอลลูน (Balloon Angioplasty) และผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ (Bypass Surgery) ให้แก่คนไข้โรคหัวใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นขั้นตอนที่ยากกว่านั้น เรายังทำไม่ได้และอาจจะต้องมีการส่งต่อบ้างในบางเคส เราอยากจะพัฒนาศักยภาพในจุดนี้ โดยไม่ต้องมีการส่งต่อผู้ป่วย สามารถรักษาได้ทุกโรค ทั้งโรคที่รักษาง่ายและโรคที่รักษายาก และอยากจะทำให้ครบวงจรมากที่สุด” นพ.เกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งให้ครอบคลุมอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบัน โรงพยาบาลให้บริการตรวจ รักษา ผ่าตัดโรคมะเร็ง รวมถึง การให้คีโมขั้นพื้นฐาน แต่ในกรณีการฉายแสง หรือการให้คีโมในขั้นตอนที่ลึกๆ และยากๆ เนื่องจากจำนวนปริมาณคนไข้ของโรงพยาบาลที่ยังมีไม่เยอะมาก ดังนั้น จึงสามารถส่งไปดำเนินการในโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลยังมุ่งเป้าในการรักษาแบบครบวงจรไปยังโรคที่รักษาได้ยากในแขนงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เบื้องต้นโรงพยาบาลคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย เนื่องด้วยมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของงบประมาณ หรือ บุคลากร ซึ่งตำแหน่งข้าราชการจะมีกรอบข้อจำกัดในการรับเข้ามาทำงาน ประกอบกับแพทย์ทรักษาโรคหัวใจมีจำนวนไม่มาก ปัจจุบันมีอยู่ 4 ท่าน ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการให้บริการรักษาคนไข้โรคหัวใจ
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลยังมีการขับเคลื่อนอีกหนึ่งแผนพัฒนาที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ การขยายศักยภาพสู่โรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะเป็นสถาบันผลิตแพทย์ร่วมระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นลำดับที่ 3 ต่อจากโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลเลิดสิน ขณะนี้ นักศึกษาแพทย์ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 โดยในปี 2567 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะมาศึกษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ จะต่อเนื่องไปจนถึงปีที่ 6
“นอกจากเราจะให้การรักษาพยาบาลคนไข้แล้ว เรายังเป็นแหล่งการศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์อีกด้วย รวมถึง แพทย์ต่อยอดเฉพาะทาง เรามีสาขาอายุรศาสตร์ สาขาอาชีวเวชศาสตร์ห้องฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นการเรียนเพิ่มจากที่ได้เรียนครบหลักสูตร 6 ปีแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเป็นแหล่งฝึก แหล่งเรียนรู้สำหรับพยาบาลในหลายๆ สาขา อาทิ พยาบาลภาวะวิกฤต และพยาบาลไตเทียม เป็นต้น โดยมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับพยาบาล 3-4 หลักสูตร เราจะเดินควบคู่กันไประหว่างการเพิ่มศักยภาพรักษาคนไข้แบบครบวงจรและเป็นแหล่งการเรียนรู้ การศึกษาของแพทย์และพยาบาล” นพ.เกรียงไกรกล่าว
สำหรับจุดเด่นในการให้บริการของโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลมีภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลในเรื่องอาชีวเวชศาสตร์ คือ โรคที่เกิดจากการทำงาน เนื่องจากในเขตกรุงเทพฯ ตะวันออกจะมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก รวมถึง โรงพยาบาลมีความรู้ ความชำนาญในด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยมีห้องฉุกเฉินที่ดีและได้รับมาตรฐาน
นพ.เกรียงไกร กล่าวต่อถึงรายละเอียดรถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) นวัตกรรมต้นแบบเพื่อประชาชนของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และเป็นรถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) คันแรกของประเทศไทยและอาเซียน ว่า ปัจจุบันมีคนไข้โรคความดันสูง และเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีคนไข้โรคไตวายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ได้เปลี่ยนนโยบายให้มีการเปลี่ยนจากการเน้นให้ล้างไตทางหน้าท้องมาเป็นการล้างไตทางเส้นเลือด ทำให้มีคนไข้ล้างไตทางเส้นเลือดเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเกิดประเด็นดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดที่จะบริการคนไข้ล้างไตให้ได้มากที่สุด จึงมีนโยบายให้คนไข้ล้างไตได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ จึงเป็นที่มาของรถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องล้างไตแต่มีภูมิลำเนาห่างไกลจากหน่วยล้างไตที่มีอยู่ โดยเกิดจากการร่วมพัฒนาระหว่างแพทย์อายุรศาสตร์โรคไต พยาบาลไตเทียม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยจุดประสงค์ คือ การนำหน่วยล้างไตไปอยู่บนรถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) ทำให้หน่วยล้างไตสามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกที่ สามารถเพิ่มการเข้าถึงการล้างไตให้แก่คนไข้ได้มากขึ้น มีมาตรฐานเทียบเท่ากับหน่วยล้างไตของโรงพยาบาล ทั้งด้านเทคโนโลยี และมีอุปกรณ์การแพทย์อย่างครบครัน
“การพัฒนารถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) จะอาศัยองค์ความรู้เดิมที่เรามีอยู่ ซี่งเป็นนวัตกรรมใหม่ และเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นการดำเนินการจะขยับไปอย่างช้าๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลัก โดยได้เปิดให้บริการครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบในโรงพยาบาลนำร่อง คือ โรงพยาบาลหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากในเขตพื้นที่อำเภอหนองเสือไม่มีหน่วยล้างไต ประกอบกับมีคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องล้างไตเป็นจำนวนมากพอสมควร
ในอนาคตคาดว่ากระทรวงสาธารณสุขอาจจะมีแผนที่จะขยายและต่อยอดโครงการรถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) ให้ครอบคลุมเขตให้บริการสุขภาพทั้ง 12 เขต หรือ มีรถฟอกไตเคลื่อนที่ (Hemodialysis Mobile Bus) จำนวน 12 คัน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อคนไข้ล้างไตเป็นอย่างมาก” นพ.เกรียงไกรกล่าว
ด้านข้อเสนอแนะที่อยากให้ภาครัฐรับทราบ เนื่องจากโรงพยาบาลมีคนไข้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือ คนไข้บัตรทอง ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่ได้รับมาจากภาครัฐพอสมควร ทำให้โรงพยาบาลได้รับงบประมาณสำหรับการรักษาคนไข้มีข้อจำกัดตามไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาล แต่ในขณะนี้ยังถือว่าสามารถจัดการได้อยู่ภายใต้การบริหารที่เคร่งครัด
ทั้งนี้ หากว่าแนวโน้มการได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าจะเป็นปัญหาต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาลในระยะยาวอย่างแน่นอน อาทิ ค่าแรงบุคลากรที่ไม่ใช่ข้าราชการ และค่าเวรกลางคืนของแพทย์และพยาบาล เป็นต้น อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ในภาพรวมจึงอยากให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มงบประมาณสำหรับการรักษาคนไข้ และอื่นๆ ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างสมดุล และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อ หรือ เงินเดือนข้าราชการที่เพิ่มขึ้น 3% ในทุกปี เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพการรักษาคนไข้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นพ.เกรียงไกรกล่าวในตอนท้าย ว่า โรงพยาบาลจะพยายามดูแลคนไข้ทุกคนให้ได้ดีที่สุดตามมาตรฐานของโรงพยาบาล ซึ่งจะไม่มีการลดมาตรฐานการรักษา อีกทั้ง จะรักษามาตรฐานให้คงไว้เช่นเดิมตลอดไปเพื่อให้สามารถรักษาคนไข้ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะมีความไม่สะดวกเกิดขึ้นบ้าง ในบางจังหวะอาจจะต้องมีการรอคอย หรือ บางทีคนไข้ที่จะต้องนอนโรงพยาบาล อาจจะไม่ได้นอนโรงพยาบาล ขณะที่ คนไข้ได้รับการส่งตัวมาที่โรงพยาบาลแล้วไม่สามารถรับได้เพราะเตียงเต็ม ในฐานะผู้บริหารต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ พร้อมทั้ง อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าโรงพยาบาลมีข้อจำกัดที่สำคัญ ด้วยจำนวนแพทย์และพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน