October 04, 2024

บีโอไอ เผยลงทุนครึ่งปีแรกพุ่ง 4.5 แสนล้าน

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

บีโอไอ เผยลงทุนครึ่งปีแรกพุ่ง 4.5 แสนล้าน เร่งโรดโชว์ดึงลงทุน พร้อมปรับโครงสร้างการผลิตให้แข่งขันได้

          บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก ปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35 นำโดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและแปรรูปอาหาร ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง ครึ่งปีหลังเร่งแผนโรดโชว์ชิงลงทุนฮับภูมิภาค ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

          นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - มิถุนายน 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ

          กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 139,725 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 39,883 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 33,121 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 25,344 ล้านบาท และดิจิทัล มูลค่า 25,112 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

  • กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
  • กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
  • กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
  • กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
  • กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
  • กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีบางกิจการที่เงินลงทุนไม่สูง แต่ส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะเป็นกิจการฐานความรู้ และเป็นกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น

  • กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ 59 โครงการ เงินลงทุนรวม 812 ล้านบาท
  • กิจการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และบริการสอบเทียบมาตรฐาน
    13 โครงการ เงินลงทุนรวม 805 ล้านบาท
  • กิจการ Smart Farming  3 โครงการ เงินลงทุนรวม 56 ล้านบาท
  • กิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย 11 โครงการ เงินลงทุน 2,327 ล้านบาท
  • กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) 19 โครงการ เงินลงทุนรวม 274 ล้านบาท
  • กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ (IPO) 16 โครงการ เงินลงทุนรวม 728 ล้านบาท

          สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 889 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 90,996 ล้านบาท จีน 72,873 ล้านบาท ฮ่องกง 39,553 ล้านบาท ญี่ปุ่น 29,987 ล้านบาท และไต้หวัน 29,453 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

          ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 211,569 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 179,332 ล้านบาท ภาคเหนือ 32,972 ล้านบาท ภาคใต้ 15,694 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14,087 ล้านบาท และภาคตะวันตก 4,705 ล้านบาท ตามลำดับ

          สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,451 โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้ คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่ง

          ในส่วนของการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 1,332 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 438,733 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87 ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนจริงในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

          นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางการลงทุนโลกยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องช่วงชิงการลงทุนมาให้ได้ โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเน้นดำเนินการใน 3 ด้านสำคัญ คือ

               (1) การสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ระดับเซลล์ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการผลักดันให้ไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) และศูนย์กลางบุคลากรทักษะสูง (Talent) ของภูมิภาค โดยในช่วง 2 เดือนข้างหน้า บีโอไอมีแผนจัดโรดโชว์ที่เกาหลีใต้ จีน อินเดีย และสิงคโปร์ รวมทั้งกิจกรรมเชิงรุกอื่นๆ เพื่อดึงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

               (2) การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระดับโลกกับซัพพลายเชนในประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น Subcon Thailand, THECA, Sourcing Day, Business Matching ฯลฯ เพื่อเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย และสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร 

               (3) การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ไทย ผ่านมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry โดยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย นำระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกิจการ ปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรือพลังงานทดแทน หรือยกระดับสู่มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรการที่ผู้ประกอบการตื่นตัวและสนใจมายื่นขอรับการส่งเสริมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีคำขอตามมาตรการนี้จำนวน 192 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เงินลงทุนรวม 19,966 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 160”

Page Visitor

011784754
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1453
5106
42799
24790
209955
11784754
Your IP: 35.170.81.33
2024-10-04 07:43
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.