December 28, 2024
01Top_Nine-Plus

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรปริญญาโท

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรปริญญาโท ตอบรับดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุข รองรับตำแหน่งงานสำคัญในอนาคต

          เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นศัตรูเสมอไป แต่สามารถเป็น “ผู้ช่วยสำคัญ” หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้และใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการผนวกศาสตร์ของเทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Digital Health โดย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตร “วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล” เพื่อรองรับตำแหน่งงานสำคัญในอนาคต

คาดการณ์บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถต่อยอดทางวิชาชีพหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ  นักวิจัย อาจารย์ด้านสุขภาพดิจิทัล นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ รวมถึงผู้ดูแลความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรด้านสุขภาพ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวิน จองวรรณศิริ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล (Master of Science Program in Digital Health) เผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า Digital Transformation ในระบบบริการสุขภาพ จะทำให้มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ   เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข อาทิเช่น การนำระบบจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในการจัดการข้อมูลเชิงเวชสารสนเทศ (Medical Informatics) ซึ่งสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ทั้งการปรับปรุงการวินิจฉัยทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น การรักษาโดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การนำข้อมูลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการติดตามข้อมูลเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ นวัตกรหรือนักวิจัยด้านสุขภาพดิจิทัล นักบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ออกสู่ตลาดแรงงานขั้นสูง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ หลักสูตรยังมุ่งเน้นความรู้และทักษะด้านสุขภาพดิจิทัลให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทั่วถึงและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ด้านความสำคัญและประสบการณ์ที่ได้รับตลอดหลักสูตรนั้น นักศึกษาปริญญาโท ที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพแต่ละท่าน เผยว่า

          แพทย์หญิงสุประวีณ์ รุ่งพิทยานนท์ รังสีแพทย์ จังหวัดอุดรธานี และมูลนิธิกาญจนบารมี “แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนสาขานี้ มาจากปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปไวมาก ทำให้รังสีแพทย์ได้มีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาวินิจฉัยให้มีความแม่นยำมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าถ้าแพทย์มีความรู้ทางด้านนี้มากขึ้นก็จะสามารถปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เมื่อเรียนจบแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้น  ทั้งนี้ ส่วนตัวยึดหลักความคิดว่า “การเรียนไม่มีที่สิ้นสุด” ตอนตัดสินใจเรียนต่อ ได้เข้ามาดูหาข้อมูลหลักสูตรและประเมินเวลาเรียน ซึ่งเราสามารถจัดการตัวเองได้ สถานศึกษาเตรียมทุกอย่างไว้ให้ คณาจารย์มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ที่สำคัญคือมีเมตตา เพื่อนร่วมรุ่นทุกคนช่วยกันเรียน ช่วยกันทำ วิทยากรก็มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่น่าสนใจ อย่าคิดว่า AI มาแทน มาแย่งงาน ความจริงแล้วไม่ใช่ เมื่อมาเรียนแล้วจะทราบว่า ทำอย่างไรให้เขาเป็นผู้ช่วย ช่วยลดเวลา ทำให้เราได้ใช้ชีวิตนอกเหนือจากการทำงานได้มากขึ้น”

          น.ส.วรางคณา แก้วกัน Infection Control Nurse โรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ “โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เราจำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้ทันกับงานที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมาอย่างรวดเร็ว เราหลีกเลี่ยงและปฏิเสธไม่ได้ หลักสูตรนี้สอนการทำงานหลายบทบาท ตั้งแต่เก็บข้อมูล รีวิววิชาการเชิงวิเคราะห์ และเทคนิคความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้เรานำไปใช้ประโยชน์ในสายงาน ส่วนตัว วงการพยาบาล แต่ก่อนเราอาจเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม แต่ต่อไปหลังจากนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เราสามารถทำงานได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็พักผ่อนได้เต็มที่ เพราะการรวบรวม จัดเก็บ ค้นหา คาดการณ์ ข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากขึ้น งานของเราคล่องตัว มีประสิทธิภาพไม่ต้องแบกทุกสิ่งทุกอย่างไว้อีกต่อไป”

          นายปางพุฒิพงษ์ เหมมณี นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข “ขณะนี้อย่างที่ทราบ ข้อมูลต่างๆ ได้เข้ามาในรูปแบบดิจิทัลหมดแล้ว การนำมาใช้อาจเป็นปัญหา ถ้าไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง ดังนั้นความรู้เรื่องเทคโนโลยีรวมกับสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ผู้ที่มีสายงานเกี่ยวข้องต้องเข้ามาศึกษา พอได้เข้ามาเรียน รู้สึกฝากความหวังที่นี่ได้เลย เพราะสิ่งที่ต้องการ ความรู้ด้านเทคโนโลยีและสุขภาพ มุมมองใหม่ๆ วิธีคิด การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจากรอบด้าน รวมถึงเทคนิคใหม่ๆ ที่มีอัปเดตให้ฟังในชั้นเรียนเสมอ

การเรียนหลักสูตรนี้ ได้เพิ่มองค์ความรู้ดิจิทัลและความรู้ด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถเห็นมุมมองใหม่ นำไปต่อยอดและพัฒนาเพื่อให้ใช้ได้จริง ต่อไปองค์กรต่างๆ จะใช้ดิจิทัลมากขึ้น ด้านวงการสาธารณสุข Digital Health ก็จะถูกนำมาใช้เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ติดตามได้สะดวก แล้วก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ ขอเชิญชวนผู้สนใจที่อยากเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพดิจิทัล รวมทั้งผู้ที่ประสบปัญหาการทำงานที่ซับซ้อน เรื่องการจัดการข้อมูล และอยากได้องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน แนะนำมาเรียนหลักสูตรนี้เพื่อแก้ไขปัญหาของท่านได้”

          ทั้งนี้ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล (Master of Science Program in Digital Health) เป็นหลักสูตร 2 ปี ระดับปริญญาโท โดยจัดการศึกษาเป็นภาษาไทย รับทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร (ระยะเวลา 2 ปี) 163,800 บาท จุดเด่นของหลักสูตร เรียนสัปดาห์ละ 1 วัน ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ผ่านการเรียนทางไกล โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก (ผ่านสื่อสารสนเทศ หรือเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์) จากอาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่จบจากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ โดยหลักสูตรให้ความสำคัญกับ AI และ Big Data ที่จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการแพทย์ในอนาคต คาดหวังบัณฑิตเมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องเป็นบุคลากรที่มีองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพดิจิทัล สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยหรือต่อยอดนวัตกรรมได้ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และสร้างงานวิจัยหรือนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในระบบบริการสุขภาพ

          คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จากสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาศาสตร์ชีวสถิติ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิเช่น แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน และจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกตามเกณฑ์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สำหรับผู้สนใจ  สามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครปีการศึกษา 2567 หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล (Master of Science Program in Digital Health) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ที่ website: https://pscm.cra.ac.th เฟสบุ๊ค Digital Health PSCM  หรือ อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 02-576-6000 ต่อ 8465 (ในวันและเวลาราชการ)

Page Visitor

013128320
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
16974
6655
121975
430834
505277
13128320
Your IP: 18.191.37.129
2024-12-28 10:54
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.