January 05, 2025
01Top_Nine-Plus

นันยาง เปิดแคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน” ชวนนักเรียน “เลิกกดดันตัวเอง”

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

นันยาง เปิดแคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน” ชวนนักเรียน “เลิกกดดันตัวเอง” หลังพบปัจจุบันเด็กไทยสภาพจิตใจย่ำแย่สูงสุด

เปิดตัวแพลตฟอร์ม “ดูใจตน วอลเล็ต” เติมความใจดีให้ตัวเอง พร้อมรับฟัง เข้าใจ และให้คำแนะนำ ย้ำ “ทุกคนมีดีพอ แค่พอดีไม่เหมือนกัน”

          ดร.จักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นันยางได้แสดงจุดยืนยุติปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนักเรียนทั่วประเทศ โดยนันยางยังเดินหน้าสานต่อการรณรงค์ดังกล่าวด้วยการสร้างสรรค์แคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน” เพื่อยุติการสร้างแรงกดดันและความคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป หรือนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ เพราะจะทำให้บั่นทอนศักยภาพการใช้ชีวิตซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเป็นที่พึ่งทางความคิดของเด็กนักเรียนได้อย่างดี

ดร.จักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

          ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตของเยาวชนไทย ในช่วงปี 2563-2567 มีความเครียดสูง ร้อยละ 24.83  มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 29.51 และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง ร้อยละ 20.35 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ และยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ สาเหตุนันยางเลือกทำแคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน” ให้นักเรียนเลิกกดดันตัวเอง เพราะพบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดเพิ่มขึ้นมาก และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเด็ก หากเด็กไม่พูดหรือไม่มีพื้นที่ที่จะรับฟังก็เท่ากับไร้ที่พึ่ง “การกดดันเหยียบย่ำตัวเอง หรือ Self-bully เป็นปัญหามองไม่เห็นด้วยตาเพราะเกิดขึ้นภายในจิตใจ วัยรุ่นมักไม่รู้ตัวว่ากำลังเกิดความคิดและพฤติกรรมที่บั่นทอนศักยภาพการใช้ชีวิตของตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสิ่งที่ได้ซึบซับมาจากสภาพแวดล้อม ผู้ใหญ่และคนรอบข้างก็มองไม่เห็น หรือมองว่าเด็กไม่มีเรื่องเครียดอะไรมาก ทำให้ไม่ทันได้สังเกตหรือรับฟังกัน ดังนั้นจะเป็นเรื่องดีที่แคมเปญนี้เป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนที่กำลังรู้สึกแย่จากตัดสินและตำหนิตัวเองมากเกินไปได้มีที่ปรึกษาในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว” ดร.จักรพล กล่าวถึงที่มาของแคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน”

          เช่นเดียวกันกับ นางสาวกันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้ร่วมก่อตั้ง MASTERPEACE และ ผศ.ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา กรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมนำเสนอผลการสำรวจข้อมูลการเกิด Self-bully ในเด็กนักเรียนว่า “การสำรวจข้อมูลจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่าวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทายด้านสุขภาพจิตเพราะเป็นวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ตัวเองส่งผลให้เกิดการกดดันตัวเอง นอกจากสังคมรอบข้างจะเรียกร้องให้เขาประสบความสำเร็จแล้ว โลกโซเชียลคืออีกปัจจัยที่มำให้เขาเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากผลการวิจัยในครั้งนี้ประสบการณ์ทำงานส่วนตัวก็พบว่าวัยรุ่นมีความรู้สึกกดดันตัวเองและรู้สึกว่าตัวเอง ‘ยังดีไม่พอ’ ซึ่งปรากฏการณ์นี้บอกว่าไม่ใช่แค่คุณครูหรือนักจิตวิทยาที่มีหน้าที่สื่อสารและแนะนำให้เขาหัดเป็นเพื่อนกับตัวเองได้มากขึ้น แต่ทุกคนมีส่วนในการเป็นกระบอกเสียงกับสังคมและช่วยเหลือเรื่องนี้ด้วยการเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้วัยรุ่นได้ ไม่กดดัน ทำให้เขาตระหนักรู้และเข้าใจ ว่าเขามีจังหวะค่อยๆ ไปต่อได้ เขาดีพอนะ ดีกว่ารอให้ปัญหาใจติดอยู่กับเขาจนมันบานปลายในวัยผู้ใหญ่”

          สำหรับแคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน” นั้น ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากกิจกรรม ตู้ถ่ายภาพอินเทรนด์ให้ได้มาถ่ายรูปรอยเท้าตัวเอง เพื่ออวดรอยเท้าพอดีไม่เหมือนกันของทุกคน ซึ่งจะจัดงานถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ที่ ลิโด้ สยามสแควร์ รวมถึงการสร้างสรรค์เพลง พอดีไม่เหมือนกัน ที่มีเนื้อหาให้กำลังใจและหันกลับมาดูแลใจตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนา แพลตฟอร์ม “ดูใจตน วอลเล็ต” เติมความใจดีให้กับตัวเอง โดยเปิดช่องทางในการรับฟัง เข้าใจ และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับการกดดันตนเอง ให้กลับมาใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น สนุกไปกับแต่ละก้าวของชีวิต เพราะนันยางเชื่อว่า ทุกคนต่างดีพอและมีความพอดีที่ไม่เหมือนกัน ผ่านทาง www.พอดีไม่เหมือนกัน.com

          โดย “ดูใจตน วอลเล็ต” นั้น เป็นการชักชวนให้วัยรุ่นได้มาสำรวจใจตัวเอง ผ่านแบบประเมินทางจิตวิทยาเพื่อสำรวจความใจดีกับตัวเอง แบ่งปันข้อความปลอบประโลมใจ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ป้องกันปัญหาสุขภาพใจ และช่วยให้นักเรียนรู้สึกเบากับความรู้สึกและปัญหาที่ต้องเผชิญมากขึ้น เพราะคนแต่ละคนมีดีในแบบของตนเอง ลดการเปรียบเทียบกับผู้อื่นให้น้อยลง

          “ความคาดหวังของเราต่อแคมเปญ “พอดีไม่เหมือนกัน” คือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้แก่วัยรุ่น ชวนกลับมาสำรวจตัวเองเติมความใจดีต่อตนเอง เพื่อให้รู้ตัวว่ากำลังปฏิบัติกับตัวเองแบบไหนในวันที่เจอ อุปสรรค สิ่งสำคัญคือวิธีการที่เราจะรับมือดูแลใจตัวเอง เลือกที่จะไม่เหยียบย่ำตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นตัวเองของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องพยายามวิ่งให้เร็วเท่าใคร กลับมาฟังเสียงภายในตัวเองให้ดังกว่าเสียงคอมเมนต์หรือคำวิจารณ์ของคนภายนอก เพื่อสร้างเสริมใจให้แข็งแรงเพื่อใช้ชีวิตตาม เส้นทางและจังหวะก้าวของตัวเองได้อย่างเต็มที่และมีความสุขที่สุด” ดร.จักรพล กล่าวสรุป

          ดร.จักรพล ได้สรุปภาพรวมตลาดรองเท้านักเรียนว่า ปัจจุบันตลาดรองเท้านักเรียนทุกประเภทในไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 5,000 ล้านบาท  นันยางยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดเฉพาะรองเท้าผ้าใบเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 45% ซึ่งในปี 2567 คาดว่าตลาดยังคงมีการแข่งขันเข้มข้นเช่นเดิม สำหรับภาพรวมธุรกิจของนันยางในปีที่ผ่านมานั้นดีขึ้นกว่าปี 2565 ค่อนข้างมากเพราะนันยางได้รุกทำกิจกรรมการตลาดและการขายต่อเนื่องตลอดทั้งปีทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและเข้าถึงอย่างใกล้ชิด ประกอบกับได้รับแรงหนุนทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้นทำให้นันยางสามารถสร้างอัตราการเติบโต 13.70% สูงกว่าอัตราการเติบโตรวมของตลาดประมาณ 3% โดยในปี 2567 นันยางวางแผนการเติบโตต่อเนื่องที่ 3-5%  พร้อมเพิ่มกลยุทธ์เพื่อรุกขยายโอกาสทางการตลาดในทุกช่องทางและยังคงเน้นเป้าหมายหลักที่กลุ่มนักเรียน นักกีฬา คนทำงาน และผู้ใช้งานอเนกประสงค์  

Page Visitor

013301667
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
20863
7834
146948
95120
509061
13301667
Your IP: 18.117.192.109
2025-01-05 23:32
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.