January 27, 2025

TPIPP ตอกย้ำผู้นำธุรกิจผลิตพลังงานทดแทน คว้ารางวัลเกียรติยศ “Thailand Energy Awards 2019”

User Rating: 2 / 5

Star ActiveStar ActiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

TPIPP ตอกย้ำผู้นำธุรกิจผลิตพลังงานทดแทน คว้ารางวัลเกียรติยศ “Thailand Energy Awards 2019”

TPIPP การันตีผลงานคุณภาพด้วยรางวัลระดับประเทศ Thailand Energy Awards 2019 ประเภทรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน โครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) พร้อมโชว์ผลงานเยี่ยม 9 เดือนแรก โกยกำไรกว่า 3,300 ลบ. เชื่อมั่นผลงาน Q4 โตต่อเนื่อง บวกเดินหน้าแผนการลงทุนระยะสั้น กลาง และยาว หนุนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

คุณภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIP

คุณภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า บริษัทได้รับรางวัล “Thailand Energy Awards 2019” ประเภทดีเด่นด้านพลังงานทดแทน โครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid)  ในส่วนโรงงานผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน โครงการ 2 จังหวัดสระบุรี โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการนำเชื้อเพลิงที่ผลิตจากขยะชุมชน หรือ RDF มาใช้ในกระบวนผลิตไฟฟ้าที่มีการต่อยอดเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยการออกแบบเครื่องจักรให้เหมาะกับขยะของประเทศไทย

โดยรางวัล “Thailand Energy Awards 2019”  ที่ได้รับในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่บริษัทเป็นอย่างมากแล้ว ยังส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอีกด้วย โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดสีเขียว ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยกำจัดขยะได้เป็นอย่างดี

“เราได้รับรางวัล Thailand Energy Awards ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557-2562 และในทุกปีผู้ชนะ จะได้ไปแข่งขันต่อในระดับอาเซียน ซึ่งในปี 2557 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานและในปี 2560 ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยเราได้เข้าร่วมประกวดในระดับอาเซียนและได้รับรางวัลชนะเลิศมาทั้ง 2 ปี เรารู้สึกภูมิใจมาก เนื่องจากไม่ใช่แค่ชนะในระดับประเทศแต่ยังชนะในระดับภูมิภาคอีกด้วย ส่วนในปีนี้ เราได้เข้าร่วมประกวดตามนโยบายเช่นกัน แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบผล นอกจากนี้ ยังมีแผนเข้าร่วมประกวดในปีถัดไป โดยจะนำโรงไฟฟ้าเดิมของเราที่ชนะมาตลอดเข้าร่วมประกวด” คุณภัคพลกล่าว

คุณภัคพล กล่าวต่อว่า บริษัทมีความคิดริเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าผลิตพลังงานทดแทนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หรือในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงต่างๆปรับตัวค่อนข้างสูงมาก เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายถ่านหินหรือน้ำมัน ดังนั้น จึงมองหาเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่สามารถทดแทนกันได้ ซึ่งคือ ขยะ จากนั้นได้ทำการศึกษาจากทั่วโลก และได้มีการออกแบบเครื่องจักรให้มีเทคโนโลยีที่เหมาะกับขยะของประเทศไทย

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 180 เมกกะวัตต์ โดยนำมาใช้ภายในโรงไฟฟ้าประมาณ 10% หรือ 18 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ 163 เมกะวัตต์

ด้านผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,098  ล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกที่ผ่านมา มีกำไร 3,332.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,724.7 ล้านบาท และมีรายได้รวม 7,692.8 ล้านบาท พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าในไตรมาส 4/2562 จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทได้นำความร้อนจากโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ขณะที่รายได้ในปี 2562 ตั้งเป้าที่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มจากปี 2561 ที่มีรายได้ 7,620 ล้านบาท

ส่วนแผนการลงทุนของบริษัทจะแบ่งออกเป็น แผนระยะสั้น กลางและยาว โดยแผนระยะสั้น ได้แก่ การติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) เพื่อใช้ทดแทนในกรณีที่หม้อต้มไอน้ำอื่น มีความจำเป็นต้องหยุดซ่อมบำรุง (M&A) รวมทั้ง รองรับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าให้ได้  95% ในทุกๆ เดือน โดยใช้งบลงทุนประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 600 ล้านบาทต่อหม้อต้ม คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2563

แผนระยะกลาง บริษัทมีความสนใจในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และสงขลา โดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าละ 10 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 โครงการ ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าที่ทางจังหวัดจะสามารถออกข้อกำหนดการว่าจ้าง (TOR) ได้ 

สำหรับแผนการลงทุนในระยะยาว บริษัทมีความสนใจที่จะไปสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ระดับ 1000 เมกะวัตต์ขึ้นไป หรือจิกะโปรเจค ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด โดยบริษัทมีความพร้อมด้านแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้พัฒนาโครงการ

คุณภัคพล กล่าวในตอนท้ายถึงภาพรวมของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะว่า ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 ที่สนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น โดยได้แยกพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะออกมาเป็นพลังงานที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล พร้อมทั้งได้ประกาศรับซื้อพลังงานขยะเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ จากเดิม 500 เมกะวัตต์ รวมเป็น 900 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากเชื้อขยะนับว่าเป็นหนึ่งใน อุตสาหกรรมที่ยากที่สุดในประเทศไทย เนื่องด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เข้าสู่ธุรกิจนี้จะต้องมีทั้งเทคโนโลยีและประสบการณ์สูง จึงจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าและประสบความสำเร็จได้

www.tpipolenepower.co.th

 

Page Visitor

013736076
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
8601
27396
35997
529529
509061
13736076
Your IP: 18.118.144.50
2025-01-27 06:11
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.