กรมการแพทย์ เดินหน้านโยบายเทคโนโลยีเพื่อการบริการ
กรมการแพทย์ ได้รับเกียรติจากคุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการขับเคลื่อนกรมการแพทย์เพื่อสุขภาพของคนไทย” ในโครงการสัมนานโยบายและทิศทางการดำเนินงานกรมการแพทย์ พร้อมเร่งเดินหน้านโยบายกระทรวงสาธารณสุข ด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบบริการ และระบบสุขภาพทางไกล ลดความแออัด ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 32 แห่ง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้จัดโครงการสัมมนานโยบายและทิศทางการดำเนินงานกรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากคุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการขับเคลื่อนกรมการแพทย์เพื่อสุขภาพของคนไทย” เกี่ยวกับนโยบายการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการ และระบบสุขภาพทางไกลเพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชนให้ได้รับบริการอย่างไร้รอยต่อ ลดความแออัดและการรอคอย ของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ 32 แห่ง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนให้กรมการแพทย์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรค และพัฒนาระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา
คุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
คุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนกรมการแพทย์ให้พัฒนาและมีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นหลักในการให้บริการและการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยดำเนินการกันอยู่แล้ว เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุข จะเข้าไปช่วยในด้านการรณรงค์เพื่อส่งเสริมและป้องกัน ให้ประชาชนหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น โภชนาการ และการออกกำลังกาย
“สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของการรักษาพยาบาล จะต้องเต็มไปด้วยคุณภาพและความปลอดภัย ด้วยโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เป็นโรงพยาบาลในชั้นตติยภูมิ ที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาโรคร้ายที่ซับซ้อน หรือเป็นเคสที่หนักๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะต้องบริหารจัดการทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ภายในมีขวัญกำลังใจ รวมถึงมีอุดมการณ์และเชื่อมั่นในสาขาวิชาชีพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้รับการรักษา ในขณะที่ภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด ฉะนั้นเราจึงต้องพยายามเน้นเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพ และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนา เพื่อให้คนที่รับบริการมีความพึ่งพอใจ ลดการรอคอยและแออัด แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินงาน ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกันทุกโรงพยาบาล เพื่อที่จะให้การบริการมีประสิทธิภาพ ภายใต้การส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน” คุณสาธิตกล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมการแพทย์ได้ทำตามแผนที่ถูกวางไว้โดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมา และมีเน้นเป็นพิเศษ คือการให้บริการคนไข้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยได้มีการปฏิรูปการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษา หรือการสื่อสารในคนไข้กับแพทย์ หรือแพทย์กับแพทย์ด้วยกัน เพื่อง่ายต่อการให้คำปรึกษาระหว่างโรงพยาบาลที่ห่างไกลกับโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญในกรุงเทพฯ
ดังนั้นจึงสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้นำเทคโนโลยี เข้ามาพลิกโฉมวงการแพทย์ของประเทศไทย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบที่ค่อนข้างก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี แต่ยังคงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทางกรมการแพทย์พร้อมดำเนินการขับเคลื่อนทิศทางการให้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทย ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 ของกรมการแพทย์ จะต่อเนื่องจากแผนเดิมให้ดีขึ้น โดยการรับนโยบายจากกระทรวงสารณสุข ในการลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งได้มีการเริ่มแล้ว อย่างเช่น การนัดคิวคนไข้ ที่จะมีการนัดให้เหมาะสมกับเวลา เพื่อไม่ให้คนไข้รอนาน การรับยาสำหรับคนไข้ที่ป่วยเรื้อรัง อย่างโรค เบาหวาน ความดัน โดยคนไข้สามารถไปรับยาได้เองที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งทางโรงพยาบาลอาจจะนัดมาตรวจ 3-6 เดือนต่อครั้ง รวมถึงยังมีแผนที่จะปฏิรูป Reform ต่างๆ อันได้แก่ System Reform, Agenda Reform, Area Reform และ Function Reform ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้จะนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
ส่วนการคาดการณ์ในอนาคตของกรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันทุกคนต้องการการบริการที่ดี แต่ด้วยความที่งบประมาณต่างๆ มีอย่างจำกัด ทุกภาคส่วนพยายามที่จะจัดสรรอย่างเหมาะสม กอรปกับพยายามที่จะปรึกษากันในเรื่องการแชร์หมอ หรือเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงแชร์ Supply บางอย่าง เพื่อเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน โดยอาจมีการนำเอาดิจิทัลเข้ามาช่วย ซึ่งทางกรมการแพทย์ กำลังทำการศึกษาอีกทางหนึ่ง ในเรื่องของ AI ที่นำเอาคอมพิวเตอร์มาอ่านฟิล์ม หรือเอาหุ่นยนต์มาช่วยในการวิเคราห์การรักษา นอกจากนี้ในอนาคตกรมการแพทย์มุ่งหวังในการเปลี่ยนการดูแลคนไข้ในโรงพยาบาล เป็นการดูแลคนไข้ภายในบ้านด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยในเรื่องของความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่าย และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้สึกดีที่ได้รักษาอยู่ที่บ้านตนเอง
“สุดท้ายนี้อยากจะฝากถึงผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ว่า เราพยายามพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัด และสถาบันในสังกัดเราอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็ขอให้พี่น้องประชาชนรับฟังและทำความเข้าใจในการทำงานของบุคลากร เนื่องจากทุกคนปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริการที่ดีกับประชาชน และอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ใส่ใจเรื่อง 3อ 2ส ให้ดูแล เรื่องออกกำกาย เรื่องอาหาร และอีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องอารมณ์ ไม่ให้เครียด โอกาสป่วยก็จะน้อยลง รวมถึงให้งดในเรื่องของสุราและยาเสพติด อันเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนหลายๆ เรื่อง หากประชาชนปฏิบัติตามก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของทุกคนได้” นพ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย