January 28, 2025

เปิดแผนการดำเนินงาน “สคช.”

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

เปิดแผนการดำเนินงาน “สคช.”

สคช. เผยแผนปี 2564 เดินหน้าเพิ่มศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่ม ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น บวกเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ลด-สนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมิน และจัดอบรมออนไลน์โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานปี 2564 ว่า สคช. มุ่งผลักดันการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย เน้นการฝึกอบรมออนไลน์ หรือการจัดทำ E-training โดยสามารถช่วยให้ทุกคนสามารถฝึกอบรมได้ในทุกๆ สถานที่ รวมถึง การสร้างนวัตกรรมในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อาทิ การเพิ่มศักยภาพของแอปพลิเคชัน เป็นต้น อีกทั้ง ยังเร่งผลักดันให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเครือข่ายพันธมิตร อาทิ ธนาคารออมสิน, SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการเทียบโอนประสบการณ์ โดยสามารถช่วยลดระยะเวลาในการฝึกอบรมลงได้ พร้อมทั้ง จัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมนอกเหนือจากกว่า 800 อาชีพที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น อาชีพด้านกีฬา อาชีพควาญช้าง อาชีพเก็บมะพร้าว รวมถึง อาชีพในโครงการศิลป์แผ่นดิน โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวเนื่องด้านอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน เพื่อเป็นการขยายขอบข่ายอาชีพให้กว้างขวางและครอบคลุมอาชีพของประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น รวมถึง อาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

รวมถึง การสนับสนุนให้ผู้คนเข้ามารับการประเมินให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญเนื่องจากเป็นหน้าที่หลักของ สคช. ที่ต้องดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนนี้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐ และส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ขณะเดียวกัน ยังเร่งผลักดันมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

“เราได้ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชนเข้ามารับการประเมินครอบคลุมเกือบทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Line และ Instagram เป็นต้น โดยเราต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากเข้ารับการประเมินกับ สคช. และผ่านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งหมายถึง การที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนต่อยอดในสายอาชีพ และช่วยให้ได้รับค่าตอบแทนมากยิ่งขึ้น” ดร.นพดลกล่าว

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า สคช. ปัจจุบันถือเป็นหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบขององค์การมหาชน ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี โดยมี คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่ง สคช. ทำหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ หรือมาตรฐานสมรรถนะ พร้อมทั้ง มอบคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่ผู้ประกอบการ และทำการตรวจสอบความสามารถในการประกอบอาชีพของคนตามมาตรฐาน

รวมถึง ทำหน้าที่รับรองความสามารถของผู้ประกอบอาชีพให้มีโอกาสเติบโตตามความสามารถ โดยแต่ละสายอาชีพจะมีระดับชี้วัดทักษะตั้งแต่ระดับ 1-8 ซึ่งหมายความว่า ถึงจะไม่มีคุณวุฒิด้านการศึกษาสูง แต่หากมีความสามารถในการประกอบอาชีพ สถาบันก็จะมอบใบประกอบคุณวุฒิวิชาชีพให้ โดยประชาชนจะต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินสมรรถนะ เพื่อยืนยันความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพที่สถาบันได้จัดทำขึ้นกับพันธมิตร หรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับในด้านนั้นโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกัน สคช. ได้มีการจัดทำเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “ปักหมุดมืออาชีพ” หรือ Professional pinpoint และมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “Propin” โดยให้ผู้ที่ผ่านการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพได้มีชื่ออยู่ในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนี้ ซึ่ง สคช. จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้สามารถเสาะหาและใช้บริการจากมืออาชีพได้โดยง่าย ช่วยในการเข้าถึงมากยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย

นอกจากนี้ ปัจจุบันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สคช. ได้จัดทำมาตรการเพื่อช่วยผลักดันประชาชนให้สามารถอยู่รอดได้ ทั้งการลดค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะด้านการใช้ อีคอมเมิร์ซ, การสนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะเต็มจำนวนในบางอาชีพ และการจัดอบรมออนไลน์โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รวมถึง มาตรการพัฒนาทักษะสมรรถนะในอาชีพ สามารถนำความรู้ไปสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการสร้างอาชีพทางรอด อาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยผ่านการ Up-skill และ Re-skill โดยมุ่งเน้นผลักดันสายอาชีพตามนโยบายภาครัฐ Thailand 4.0 และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาทิ อาชีพดูแลผู้สูงอายุ, ผู้ดูแลเด็ก, เกษตรกรรม, ไอที และ Robotic เป็นต้น  

“การมอบคุณวุฒิวิชาชีพแก่ผู้ประกอบการ ถือเป็นการช่วยยืนยันความเป็นมืออาชีพให้แก่ผู้ประกอบการในสายอาชีพนั้นๆ โดยส่วนใหญ่ประชาชนที่เข้ามารับการประเมินจะเป็นอาชีพอิสระ เนื่องจากบุคคลที่ประกอบอาชีพแบบมีนายจ้างจะมีความมั่นคงมากกว่า

อีกทั้ง ในปัจจุบันอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราจึงต้องผลักดันในส่วนของอาชีพที่มุ่งเน้นสนับสนุนตามนโยบายของภาครัฐ รวมทั้ง ช่วยสร้างอาชีพทางรอดอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 โดยการ Up-skil และ Re-skill เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถอยู่รอดได้” ดร.นพดลกล่าว

ด้านหลักการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งแนวทางของ สคช. คือ เป็นหน่วยให้บริการที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องมีจิตใจในการให้บริการเป็นอันดับแรก อีกทั้ง สคช. ยังได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพครอบคลุมทั้งหมดกว่า 5,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันยังมีการทำงานร่วมกับสมาคม / สมาพันธ์, สมาคมวิชาชีพ, หน่วยงานภาครัฐ และสภาวิชาชีพ

พร้อมทั้ง ได้พัฒนาอาชีพต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบออนไลน์ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในอุตสาหกรรม โดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจัยสำคัญอีกด้านที่ส่งผลให้ สคช. ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถ

Page Visitor

013755872
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1267
27130
55793
549325
509061
13755872
Your IP: 3.137.187.81
2025-01-28 02:02
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.