กรมการแพทย์ ชูการดำเนินงานปี 65 มุ่งเป็น Open Platform พัฒนาทิศทางโรงพยาบาล
กรมการแพทย์ เผยแผนการดำเนินงานปี 2565 มุ่งเป็น Open Platform เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ต่อยอดการให้บริการทุกที่ทุกเวลา พร้อมขานรับนโยบายกระทรวง ดูแลคนไข้แบบ VIP เตรียมขับเคลื่อนทุกโรงพยาบาลในสังกัดเป็น Smart Hospital ภายในปี 2565
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมาความท้าทายต่อการดำเนินงานของกรมการแพทย์คงหนีไม่พ้นเรื่องของโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ จะมีเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ ประกอบกับต้องทำงานในระบบราชการที่มีกฎระเบียบมากมาย ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว กรมการแพทย์จึงต้องปรับตัวให้เป็น Open Platform โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดเชิญชวนบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข อาทิ กลุ่มตัวแทนผู้ป่วย ภาคประชาสังคม หรือ NGO เข้ามาเป็นกรรมการกำกับทิศของโรงพยาบาล เพื่อวางทิศทางการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มารับการรักษาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
สำหรับปี 2565 การดำเนินงานของกรมการแพทย์จะเป็นการต่อยอดจากปีที่ผ่านมา คือการให้บริการทุกที่ทุกเวลา ผนวกกับการดูแลคนไข้แบบ VIP ที่เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยเราตั้งเป้าว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดจะต้องเป็น Smart Hospital ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งคนไข้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลใดในสังกัดกรมการแพทย์ จะสามารถดูประวัติการรักษาต่างๆ ของตนเองได้บนมือถือผ่าน ระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR)
อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ให้คนไข้สามารถดาวน์โหลด ลงทะเบียน เพื่อดูข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพของตนเอง และยังสามารถ Telemedicine คุยกับแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ หรือรักษาโรคที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาลได้ โดยโรงพยาบาลจะทำการจัดส่งยาไปให้ตามอาการของคนไข้ทางไปรษณีย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดการรอคอยให้คนไข้ได้มากขึ้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการดูแลคนไข้แบบ VIP กรมการแพทย์จะมุ่งปรับปรุงทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด โดยเฉพาะ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.OPD หรือผู้ป่วยนอก ที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดูสวยงามขึ้น เพื่อให้คนไข้ผู้มารับบริการรู้สึกผ่อนคลาย ไม่แออัด ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงในส่วนนี้แล้ว 2.IPD หรือผู้ป่วยใน จะมีการติดเครื่องปรับอากาศ พร้อมเครื่องระบายอากาศที่ดีทุกห้อง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมเปลี่ยนความรู้สึกของคนไข้ให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และ 3.อาหารของคนไข้ จะปรับปรุงเรื่องของเวลาในการเสิร์ฟ เพื่อให้คนไข้ได้ทานอาหารที่ร้อน ใหม่ และตรงเวลา โดยในการปรับปรุงเรื่องอาหารเราจะใช้คอนเซ็ปต์ 3 ข้อ คือ Safety : วัตถุดิบในการประกอบอาหารมีคุณภาพดี ปลอดสารพิษ Healthy : เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับอาการของคนไข้ และ Happy : อาหารต้องอุ่นตลอดเวลา มีเมนูให้คนไข้เลือก เพื่อให้คนไข้รู้สึกดี
“นี่จะเป็น 3 เรื่องสำคัญ ที่กรมการแพทย์เราจะเน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่มารับบริการรู้สึกได้ว่า บริการดีๆ ไม่ได้มีเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น นี่ก็จะเป็นแผนภาพรวมในปี 2565 ซึ่งเป็นโอกาสที่กรมการแพทย์ครบรอบ 80 ปี นอกจากนี้ ในเรื่องของโควิด-19 กรมการแพทย์จะเน้นเตรียมในเรื่องของยาที่ใช้ในการรักษาต่างๆ โดยเจรจากับผู้ผลิตยาเพื่อจัดสรรยาให้เพียงพอ รวมถึงทำยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในเด็กมีเพิ่มขึ้นมาก ทั้งยังจะเน้นเตรียม Community Isolation โรงพยายามสนามสำหรับเด็ก และแรงงานต่างด้าวเพื่อรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะยังมีอยู่ในปี 2565” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของกรมการแพทย์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่สำคัญทั้งสิ้นต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับกรมการแพทย์ถือเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดำเนินการกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ บทบาทหลักของกรมการแพทย์ยังคงเป็นเรื่องของการดูแลรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นการที่เราจึงพยายามผลักดันการดำเนินงานให้เป็น Open Platform ให้ทุกคนมามีส่วนร่วมเสนอแนะ และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อผลักดันการรักษาพยาบาลให้เป็นทุกที่ทุกเวลา ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ นี่จึงเป็นบทบาทเล็กๆ ของกรมการแพทย์ที่จะทำร่วมกับภาคีเครือข่ายในปีนี้
“ผมพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เราจึงพยายามเปิดให้เป็น Open Platform ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน แล้วคนในกรมก็จะมีนโยบายแบบ Bottom Up คือข้างล่างสามารถสะท้อนข้างบนได้ เพราะว่าการที่เรากำหนดนโยบายแบบ Top Down มันไม่ได้ประโยชน์ทั้งหมด ก็ต้องให้มีส่วนร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของเราเอง คนข้างนอก คนไข้ หรือแม้กระทั่งญาติคนไข้ อันนี้จะเป็นส่วนที่ดีที่สุดเมื่อร่วมมือกัน แต่ทั้งนี้เป้าหมายของทุกภาคส่วนที่ตั้งไว้จากเดิมคือ ‘ทุกลมหายใจที่ได้คืนมา มีค่ามากเกินกว่าคำชื่นชม’ เปลี่ยนมาเป็น ‘ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต’ เราต้องมาเคลียร์ให้มีเป้าหมายที่ตรงกันก่อน ถ้าเปลี่ยนมาคิดตรงกันได้ก็จะดี และทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์จะพยายามตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ด้วยการดูแลทุกที่ทุกเวลา โดยให้ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมเป็นหลักการทำงานร่วมกัน และตอนนี้กรมเองก็พยายามฝากวัฒนธรรมในการเอาคนไข้เป็นหลัก ถ้าเราคิดตรงกัน ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย