December 21, 2024
01Top_Nine-Plus

Biz Focus Industry Issue 142, November 2024

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย มั่นใจอนาคตสดใสของธุรกิจขนส่ง 

พร้อมแนะผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          แม่ทัพใหญ่สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) “ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์” เดินหน้าลุยงานที่เหลืออย่างเต็มที่ก่อนสิ้นสุดวาระการเป็นนายกสมาคมฯ ในสิ้นปีนี้ เผยการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นไปตามกรอบวิสัยทัศน์และพันธะกิจที่วางไว้ อนาคตอยากเห็นทิศทางขององค์กรวิชาชีพนี้มีความสำคัญ สร้างคุณค่าต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและประเทศชาติ

ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA)

            ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้มุ่งมั่นทำงานตามพันธะกิจ 5 ด้าน ได้แก่ 1. เป็นองค์กรที่ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ต่อสมาชิกและอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ 2. เป็นหนึ่งในองค์การที่ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการกำหนดและรับรองมาตรฐานการประกอบการ 3. เป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของมวลสมาชิกและผู้ประกอบการธุรกิจ 4. ส่งเสริมการเป็นองค์กรที่มีสมาชิกและคณะกรรมการที่มีคุณภาพ มีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความผูกพันและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาคมฯ และ 5.เป็นศูนย์กลางข้อมูล และการเรียนรู้ด้านขนส่งและโลจิสติกส์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

          การเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคหันมาใช้บริการทางออนไลน์เกือบจะทั้งสิ้น ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบธุรกิจตามการบริโภคที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติที่มาพร้อมกับกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกทวีความรุนแรงต่อการแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย และหนึ่งในปัญหาสำคัญที่อุตสาหกรรมขนส่งต้องเผชิญคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะพนักงานขับรถที่ขาดแคลนอย่างมาก ขณะที่แรงงานที่มีอยู่อาจขาดทักษะที่จำเป็น เช่น การใช้เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล และการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพส่งผลตรงต่อผลลัพธ์ในอุตสาหกรรมฯ

          สำหรับการพัฒนาและการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ สมาคมฯ ได้ดำเนินการร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น การส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยเครื่องมือ Q-Mark และ Q Cold Chain ผ่านกรมการขนส่งทางบก รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ TSM (Transport Safety Manager) เพื่อพัฒนาทักษะด้านความปลอดภัยในการขนส่ง

          นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวทางด้านสิ่งแวดล้อม (ESG) โดยสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าใจและปรับตัวตามแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) เพื่อให้ธุรกิจขนส่งเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

          “เรามีการร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานในการทำงานผ่านเครื่องมือ Q-Mark อันเป็นมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก ของกรมการขนส่งทางบก และ Q Cold Chain มาตรฐานคุณภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารด้วยรถบรรทุกแบบ ควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงได้จัดตั้งศูนย์ TSM : Transport Safety Manager เพื่ออบรมบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง โดยงานของสมาคมฯ จะดำเนินการสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเป็นหลัก นอกจากนี้ เรื่องที่กำลังเป็นกระแสอย่างเรื่อง ESG สิ่งแวดล้อม เรื่องของ Decarbonization การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ผู้ว่าจ้าง และสังคมก็เริ่มตั้งคำถามกับธุรกิจขนส่งแล้ว ฉะนั้นเราก็ต้องปรับตัว หาแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการของเรา เพื่อดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคมได้อย่างยั่งยืน” ดร.ปิยะนุช กล่าว

          ดร.ปิยะนุช กล่าวถึงจุดแข็งของสมาคมฯ ว่า ความสำเร็จของสมาคมฯ สะท้อนจากการได้รับรางวัลสมาคมการค้าดีเด่นและยอดเยี่ยมติดต่อกันถึง 3 ปี จากสภาหอการค้าไทยและกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารงานและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสมาชิกและอุตสาหกรรมขนส่ง อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังคงยึดมั่นในแนวทางการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทุกคนในสมาคมฯ ทำงานด้วยใจ เพราะเราเชื่อว่าอุตสาหกรรมใดที่ขาดการเสียสละและการทำงานร่วมกัน ย่อมมีปัญหาด้านการแข่งขันและความเท่าเทียม

“ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคหันมาใช้บริการทางออนไลน์เกือบจะทั้งสิ้น ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบธุรกิจตามการบริโภคที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติ ที่มาพร้อมกับกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกทวีความรุนแรงต่อการแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย" 

          สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ดร.ปิยะนุช มองว่าอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน และจีเอ็มเอส (Greater Mekong Subregion) ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบจากภูมิศาสตร์ของประเทศ

          "ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความล้ำของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภคมีโอกาสการเติบโต ในขณะที่ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันอาจพบกับความยากลำบากในอนาคต" ดร.ปิยะนุชกล่าว

          ดร.ปิยะนุช กล่าวว่า สำหรับปีสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ได้เตรียมโครงการบางส่วนเพื่อมอบต่อท่านนายกท่านใหม่ และยังคงพร้อมสนับสนุนนายกท่านต่อไปให้สามารถปฏิบัติภาระกิจตามวิสัยทัศน์และพันธะกิจของสมาคมฯได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังหวังให้สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยได้เป็นหนึ่งในองค์กรวิชาชีพที่สมาชิก และผู้ประกอบการฯต่างให้ความสําคัญและเห็นในคุณค่า และอยากอยู่ร่วมกันตลอดไป

www.ttla.or.th

 

Page Visitor

013002343
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
10395
17363
102878
304857
505277
13002343
Your IP: 3.137.220.10
2024-12-21 16:21
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.