October 13, 2024

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ครบรอบ 14 ปี เดินหน้าหนุนเศรษฐกิจไทย

User Rating: 5 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar ActiveStar Active
 

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ครบรอบ 14 ปี เดินหน้าหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคง

ครบรอบ 14 ปี สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี

          รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาปนาสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เกิดจากแนวคิดที่จะสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขึ้นในประเทศไทย โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ตลอดจนงานวิจัยด้านแสงซินโครตรอน จากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน จากนั้นได้ก่อตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ และได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ปัจจุบันครบรอบ 14 ปี มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังคงพัฒนาศักยภาพการทำงานของเครื่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมต่อการขยายฐานการให้บริการสู่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไทยได้หลากหลายสาขาและตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากให้บริการแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนขั้นสูง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีพันธกิจในการส่งเสริมการถ่ายทอดและการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนทั้งในและต่างประเทศ 2. ด้านการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอน 3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

          รศ.ดร.สาโรช กล่าวว่า แสงซินโครตรอน ปัจจุบันถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ วิจัยเชิงลึกถึงระดับอะตอมและโมเลกุล เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้แสงซินโครตรอนมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ในการสนับหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ 7 อุตสาหกรรม ที่นำแสงซินโครตรอนมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าแก่ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

          1. อาหารและการเกษตร (Food and Agriculture) นับเป็น 2 อุตสาหกรรมหลักของไทยที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตจำนวนมาก เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น โดยแสงซินโครตรอนนั้นสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้หลากหลายการทดลอง เช่น ด้านอาหาร มีการใช้เพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีนและการเติมแต่งคุณสมบัติของเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ หรือในด้านการเกษตร ก็นำมาใช้ศึกษาสารสำคัญในพืชเพื่อแก้ปัญหาโรคต่างๆ ในพืชเศรษฐกิจของไทย อย่าง พริก เห็ดเยื่อไผ่ ฯลฯ

          2. ยาและเครื่องสำอาง (Drug and Cosmetic) กว่าจะมาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้เราได้บริโภคกัน ในกระบวนการผลิตจำเป็นต้องวิเคราะห์กันถึงระดับโมเลกุล เพื่อให้ได้คุณภาพและมีความปลอดภัยกับทุกคน หนึ่งในตัวอย่างงานวิจัยของเรา มีการใช้แสงซินโครตรอนเพื่อศึกษาอนุภาคระดับนาโนในครีมกันแดด ทำให้ช่วยตอบได้ว่าหากเติมสารประกอบบางอย่างเข้าไปก็จะช่วยลดอันตรายของสารโลหะออกไซด์ที่ก่อให้เกิดผลเสียทางผิวหนังในระยะยาวได้ หรือนำมาใช้ทดสอบประสิทธิภาพโลชั่นสำหรับเด็กของแบรนด์ Mama Kara เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยสร้างเกราะปกป้องผิวลูกน้อยได้จริง

          3. การประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์ (Medical Application) แน่นอนว่าในการรักษาผู้ป่วยต้องอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์จำนวนมาก แถมในแต่ละโรคก็มีความเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยวิเคราะห์และประเมินโรคได้อย่างแม่นยำ เราจึงมักเห็นแสงซินโครตรอนเข้ามามีบทบาทอยู่เสมอ อย่างล่าสุดทางผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันได้เชิญสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนของไทย เข้าร่วมโครงการผลิต “แผนที่สมองมนุษย์แบบสามมิติ” ของ 6 ประเทศในเอเชีย-โอเชียเนีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน และออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ทั้งหมด

          4. ยางและพอลิเมอร์ (Rubber and Polymers) เพราะประเทศไทยเรียกได้ว่าเป็นผู้ส่งออกยางเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายสำคัญของอาเซียน ทำให้มีการนำแสงซินโครตรอนเข้ามาวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ เช่น การตรวจสอบโครงสร้างระดับอะตอมของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของตลาด

          5. ไมโครแมชชีนนิ่งและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Micro-Machining & Electronic Devices) ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีการใช้แสงซินโครตรอนเข้ามาช่วยในการวิจัยและพัฒนาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การศึกษาสารกึ่งตัวนำชนิดฟิล์ม เพื่อให้ในการผลิตโซลาร์เซลล์ หรือใช้ในการพัฒนาส่วนประกอบของฮาร์ดดิสก์ ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูง และสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากเลยทีเดียว

          6. เหล็กและเซรามิก (Metal and Ceramic) เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวไปตามความต้องการของลูกค้าและแปรสภาพเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในโครงสร้างต่างๆ ใช้ในการผลิตรถยนต์ หรือผลิตขดสปริง ทำให้บางรายต้องการเหล็กที่เหนียว บางรายต้องการเหล็กที่แข็ง แสงซินโครตรอนจึงเข้ามาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้ เช่น การวิเคราะห์คุณสมบัติของโลหะและเซรามิก ช่วยตรวจสอบความบกพร่องหรือปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ไปจนถึงการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุ อย่างการทนต่อการถูกกัดกร่อนในกระบวนการเคลือบผิว เป็นต้น

          7. เครื่องประดับ (Jewelry) เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่า ประเทศไทยเรานับเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (พลอยสี) ของภูมิภาค และมีช่างฝีมือดีๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่อุตสาหกรรมนี้ก็มีความท้าทาย ด้วยเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป วัตถุดิบที่หายากมากขึ้น จึงได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยแสงซินโครตรอนก็เข้ามามีบทบาทในหลายการทดลอง เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างระดับอะตอมของธาตุในอัญมณี เพื่อเข้าใจเข้าข้อมูลเชิงลึกว่าจะสามารถเปลี่ยนสีของอัญมณีให้ได้ตามความต้องการได้อย่างไร

“แสงซินโครตรอนยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกมาก โดยทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยและพัฒนาผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงและการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดให้กับทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการไขคำตอบจากสิ่งเล็กๆ สู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยอาศัยแค่เพียงคำว่านวัตกรรม” รศ.ดร.สาโรชกล่าว

www.slri.or.th

 

Page Visitor

011880121
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
5551
14322
84096
120157
209955
11880121
Your IP: 3.239.3.196
2024-10-13 05:11
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.