April 27, 2024

Biz Focus Industry Issue 023, December 2014

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

อุตฯ อาหาร เปิดแผนขับเคลื่อนธุรกิจครบวงจร

นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารบิส โฟกัสเกี่ยวกับวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอย่างครบวงจรหนุนเพิ่มศักยภาพกลุ่ม SME เน้น R&D เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมวางเป้าโกยรายได้ปีนี้ 980,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท และประเด็นอื่นๆ ดังนี้

 

บิส โฟกัส : วิสัยทัศน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร

.สพ.บุญเพ็ง : วิสัยทัศน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย 1) มุ่งเน้นความเป็นเอกภาพของสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก, 2) การพัฒนาให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างผู้ประกอบการ, ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัด เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง การเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งประเทศ

3) การประสานงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้ง 42 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 9 สถาบัน ที่อยู่ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งบางโครงการอาจจะต้องมีการทำงานร่วมกันกับองค์กรภายนอกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เช่น ประสานงานองค์กรระหว่างประเทศ, สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI, สถาบันวิจัยและพัฒนา หรือสถาบันน้ำ เป็นต้น

4) การผลักดันนโยบายด้านการผลิตสินค้าและด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งนโยบายด้านมาตรฐานทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเน้น 3 ประสาน ดังนี้ 1.ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น 2.ประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน อาทิ สภาอุตฯ, สภาหอการค้าฯ, ธนาคาร และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

3.ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันทางด้านงานวิชาการและการพัฒนาต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช., สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านการวิจัย ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

ส่วนวิสัยทัศน์ข้อที่ 5 คือ การส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับสมาชิก โดยจะมุ่งเน้นผลักดันกลุ่ม SMEs ที่มีอยู่ประมาณ 80% ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ และ 6.สานต่อนโยบายความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกร, ผู้ประกอบการ และ National Food Valley หรือคลัสเตอร์อาหาร ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ตั้งภายในสภาอุตหกรรมแห่งประเทศไทย

นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร

 

บิส โฟกัส : แผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารในปีหน้า

น.สพ.บุญเพ็ง: กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอย่างครบวงจร โดยแบ่งออกเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยอุตสาหกรรมอาหารในส่วนของต้นน้ำ จะเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก เพราะอาหารส่วนใหญ่จะมาจากภาคการเกษตร โดยจะเข้าไปพัฒนาเพิ่มความแข็งแกร่ง และดูแลในเรื่องของการจัดสรรน้ำ รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่กระตุ้นภาครัฐในการเตือนภัย ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และให้รัฐบาลมีการบริหาจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

อุตสาหกรรมอาหารในส่วนของกลางน้ำ คือการผลิตสินค้าหรือแปรรูปสินค้า ซึ่งจะเน้นในเรื่อง R&D (Research & Development) เป็นหลัก เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาการผลิตสินค้าใหม่ๆ และมุ่งเน้นในเรื่องการจัดเก็บสินค้าหลังการผลิต ลดการสูญเสียระหว่างการผลิต ซึ่งช่วยให้สามารถลดต้นทุนและทำให้มีปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมอาหารปลายน้ำ จะเน้นหนักไปในเรื่องของโลจิสติกส์ เนื่องจากกลุ่ม SMEs จะประสบปัญหาในด้านนี้มาก ทั้งการผลิตและส่งจำหน่ายไม่ทัน ก่อให้เกิดสินค้าเน่าเสียและสินค้าขาดตลาด ดังนั้นโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการทำตลาด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจะช่วยเหลือในการหา Supply Chain ที่ดีที่จะสามารถเข้ามาสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

 

บิส โฟกัส: สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร

.สพ.บุญเพ็ง : ตนมองว่าการทำ R&D เป็นสิ่งสำคัญในทุกๆ ขั้นตอน หากนำการวิจัยและพัฒนาเข้ามาประยุกต์และผสมผสานในแต่ละขั้นตอนได้ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของผลผลิตที่จะเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดการสูญเสียของวัตถุดิบ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ยังประสบปัญหาในเรื่องของเงินทุนในการทำ R&D ซึ่งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างมาก รวมทั้งยังขาดความรู้และความเชี่ยวชาญในการวางระบบ การบริหารจัดการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดข้อมูลในด้านการวิจัยผลิตสินค้า รวมทั้ง สถาบันอาหารได้เริ่มมีการจัดตั้งโรงงานต้นแบบ หรือ Pilot Plant โดยเป็นโรงงานทดลองและวิจัย ตั้งแต่การเริ่มต้นการทำวิจัย โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีพนักงานที่ดำเนินการในขั้นตอนกระบวนการผลิตและขั้นตอนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีโรงงานต้นแบบเพิ่มอีก 2 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดจะเริ่มดำเนินการได้อีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ดำเนินการในโครงการนี้ด้วย

 

บิส โฟกัส : แผนการผลักดันกลุ่ม SMEs

.สพ.บุญเพ็ง : กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีโครงการผลักดันกลุ่ม SMEs ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ OTOP ที่หลายคนมองว่าเป็นผลผลิตภายในครัวเรือน แต่ในปัจจุบันสินค้า OTOP มีหลายผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาไปสู่ตลาดระดับประเทศและมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย อาทิ กล้วยตาก และผลไม้อบแห้ง เป็นต้น

โดยจะช่วยในทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพืชหรือสัตว์ ทั้งก่อนการเก็บเกี่ยว ระหว่างการเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้จะเน้นในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้รับมาตรฐานและได้รับการรับรอง GMP และ HACCP ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ

 

บิส โฟกัส : เป้าหมายของอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้และปีหน้า

.สพ.บุญเพ็ง : ในปี 2557 คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 5-6% จากปี 2556 หรือมีมูลค่าประมาณ 980,000 ล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ที่ผ่านมา การส่งออกยังไม่เป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งออกเริ่มมีการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 คาดว่าหลังจบไตรมาส 4 ปีนี้จะเป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน ส่วนปี 2558 ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% และมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน

 

บิส โฟกัส : ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออก

.สพ.บุญเพ็ง: ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักของไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น 2. ค่าเงินบาทที่เริ่มมีการอ่อนตัว ตามการแปรผันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีการแข็งค่าขึ้น

3. ผลผลิตภายในประเทศเริ่มมีทิศทางดีขึ้น อาทิ ปัญหาโรคในกุ้งที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะสามารถส่งออกได้ในขนาดที่ไม่ใหญ่มากแต่มีปริมาณผลผลิตที่สูง, หลายประเทศทั้งญี่ปุ่นและยุโรปเริ่มมีการเปิดตลาดรับซื้อไก่สดจากไทยมากขึ้น นอกจากการรับซื้อไก่ปรุงสุก นอกจากนี้ไทยยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เป็นผู้นำในการส่งออกไก่สดและไก่ปรุงสุกอีกด้วย และ 4. การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 โดยจะเป็นอีกตลาดที่สำคัญในการส่งออก เนื่องจากไทยเป็นที่หนึ่งของอาเซียนในการส่งออกอาหาร

 

บิส โฟกัส : สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน

น.สพ.บุญเพ็ง : สืบเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น ได้มีการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไบโอดีเซลหรือพลังงานไฟฟ้า จึงส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและส่งออกเล็กน้อย จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการจัดพื้นที่เพาะปลูก หรือ Zoning และกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา

Page Visitor

010633995
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1491
4975
31513
128611
137776
10633995
Your IP: 3.14.15.94
2024-04-27 08:37
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.