January 05, 2025
01Top_Nine-Plus

Biz Focus Industry Issue 108, January 2022

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

ยันม่าร์ เปิดเกมรุกปี 65 ด้วยศักยภาพแห่งผู้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในไทย

ยันม่าร์ เดินหน้าธุรกิจท่ามกลาง Covid-19 ”มร.ฮิเดกิ อุเอดะ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด” เผยบริษัทเติบโตสวนสถานการณ์ หลังปรับตัวด้านการตลาดเพิ่มบทบาททางออนไลน์ ขณะที่ปี 2565 เตรียมนโยบายสนับสนุนผู้แทนจำหน่าย ขยายสาขา เพิ่มที่ปรึกษาการขาย เพื่อให้ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในอนาคต มียอดขาย 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2568

มร.ฮิเดกิ อุเอดะ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี จำกัด

มร.ฮิเดกิ อุเอดะ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกภาคธุรกิจ ทำให้ภาพรวมตลาดหดตัวลง แต่ในทางกลับกัน สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น ตลาดกลับเติบโตขึ้น 10%-15% ซึ่งสวนกระแสสถานการณ์ดังกล่าว โดยยันม่าร์สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาด ทั้งในส่วนแทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าว

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำการตลาดที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ซึ่งต้องปรับรูปแบบการทำการตลาดจากเดิม ที่เน้นจัดกิจกรรมในพื้นที่มาเน้นกิจกรรมทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการเข้าหาลูกค้าเป็นรายบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์โรคระบาดในขณะนี้

อีกทั้งจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงาน ผู้แทนจำหน่าย รวมถึงพนักงานของผู้แทนจำหน่าย ฉะนั้นการสื่อสารทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนกลางคือบริษัทและส่วนของผู้แทนจำหน่าย โดยบริษัทมีการเตรียมพร้อมและออกนโยบายสนับสนุนผู้แทนจำหน่าย โดยเน้นหนักในเรื่องของ Social Media Platform ที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, Line และ Tiktok

“แต่ทั้งนี้ เราไม่สามารถพึ่งพาสื่อออนไลน์ได้เพียงช่องทางเดียว ในวงการของเรา การได้พบปะพูดคุยกับลูกค้า สอบถามและวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ตรงตามความต้องการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งนโยบายหลักของยันม่าร์จึงเน้นหนักไปทางการเข้าพบลูกค้าเป็นรายบุคคล ซึ่งปีที่ผ่านมาที่ปรึกษาการขายของเราทำผลงานได้เป็นที่น่าพึงพอใจมาก โดยสามารถเข้าพบลูกค้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น การปรับตัวมาใช้การสื่อสารทางการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มากขึ้น โดยเน้นทั้งจากส่วนกลางและผู้แทนจำหน่าย รวมถึงการเข้าหาลูกค้าเป็นรายบุคคล จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในยุคการแพร่ระบาดของ Covid-19 นี้ได้” มร.อุเอดะกล่าว

มร.อุเอดะ กล่าวถึงกลยุทธ์ในปี 2565 ว่า เพื่อการบรรลุเป้าหมายในปี 2565 นอกจากแนวทางการทำกิจกรรมการตลาดหรือการสื่อสารทางการตลาดที่ได้กล่าวมาแล้ว ในปีนี้เรายังเน้นเรื่องของปริมาณและคุณภาพของที่ปรึกษาการขาย และสาขาของผู้แทนจำหน่าย เพื่อให้ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งยันม่าร์ได้จัดเตรียมนโยบายในการสนับสนุนผู้แทนจำหน่าย ขยายสาขา และเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาการขาย รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการอบรมสำหรับที่ปรึกษาการขายของผู้แทนจำหน่าย เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดและเป้าหมายการขายของเรา

ด้วยเหตุนี้ ยันม่าร์จึงเตรียมความพร้อมที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นราว 10 สาขาในปีนี้ ซึ่งเมื่อรวมแล้วเราจะมีสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 120 สาขา และยังคงมีแผนการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายเกษตร 4.0 ของทางภาครัฐ ยันม่าร์ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรในประเทศไทย ทั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้จริงในปัจจุบัน เช่น ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ หรือ SA-R (SMARTASSIST-Remote) ซึ่งติดตั้งอยู่ในแทรกเตอร์รุ่น YM และรถเกี่ยวนวดข้าวทุกรุ่นของเรา รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะอื่นๆ ของยันม่าร์ ที่จะทยอยนำเสนอและสาธิตในประเทศไทยต่อไป

ขณะเดียวกันในส่วนของการลงทุนเพิ่มเติม ต้องเรียนว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยันม่าร์ในประเทศไทยได้มีการลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตและขยายสายการผลิตแทรกเตอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและประกอบแทรกเตอร์เพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รองรับการผลิตและประกอบได้ถึงปีละ 15,000 คัน นอกจากนี้ โรงงานของเราในประเทศไทยยังได้รับความไว้วางใจในการผลิตและประกอบแทรกเตอร์ขนาดเล็กและชิ้นส่วนประกอบ เพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของยันม่าร์ประเทศไทยของเรา อย่างไรก็ตาม หากการขยายตัวของตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วจะส่งผลต่อกำลังการผลิต แน่นอนว่าเราจะต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที

สำหรับเป้าหมายการเติบโตในอนาคต มร.อุเอดะ กล่าวว่า โดยปกติแล้วบริษัทเรามีการวางแผนธุรกิจของยันม่าร์ในประเทศไทยเป็นระยะๆ โดยเป้าหมายเบื้องต้นที่เราตั้งไว้คือการมียอดขาย 10,000 ล้านบาทภายในปี 2568 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับเรา และแน่นอนว่าบริษัทจะต้องเตรียมการและวางแผนเพื่อรองรับยอดขายระดับนั้น โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเสริมทัพให้ครบทุกความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ

ฉะนั้น การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทั้งส่วนของงานขายและงานบริการ นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ และรวมถึงการขยายสาขาของผู้แทนจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 140 สาขา ซึ่งเราเชื่อมั่นในศักยภาพของพนักงาน ผู้แทนจำหน่ายของเรา ที่จะร่วมมือกันไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพด้านเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับนโยบายสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้กับเกษตรกรใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มอัตราผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ครอบคลุมเข้าถึงประชากรทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรคมนาคม ระบบอินเตอร์เน็ต และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้เกษตรกรทำงานได้สะดวกขึ้น เข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นภาระต้นทุนด้านดอกเบี้ยต่ำของเกษตรกร โดยมีภาครัฐคอยสนับสนุน (ธ.ก.ส.) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เราเชื่อว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีโอกาสทางการตลาดสูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ผมเชื่อว่าแนวโน้มการทำเกษตรกรรมในประเทศไทย ในไม่ช้าก็จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ สอดคล้องกับหลายๆ ประเทศในแถบยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น นั่นคือปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากนโยบายเกษตร 4.0 ที่ภาครัฐได้นำเสนอออกมา ด้วยเหตุนี้ ยันม่าร์ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการเกษตรรายหนึ่งของโลก เรามีการเตรียมพร้อมที่จะเดินหน้าให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ โดยจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูง เข้ามาตอบสนองตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของประเทศไทย เพื่อลดการใช้แรงงานคน ลดภาระต้นทุนการผลิต และเพิ่มอัตราผลผลิตให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” มร.อุเอดะ กล่าวทิ้งท้าย

www.yanmar.com

Page Visitor

013289838
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
9034
7834
135119
83291
509061
13289838
Your IP: 18.118.33.239
2025-01-05 09:21
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.