April 27, 2024

Biz Focus Industry Issue 117, October 2022

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

เปิดแผนธุรกิจ “วอลโว่ บัส (ประเทศไทย)”

วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) เดินหน้าภารกิจหลัก มุ่งสร้างภาพจำที่ชัดเจน ผ่านการสื่อสารทุกช่องทาง เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ทั้งการซื้อผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง และการดูแลหลังการขาย ชี้ภาพรวมการท่องเที่ยวโค้งสุดท้ายมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เตรียมจับมือยูดี ทรัคส์ จัดแคมเปญโปรโมชันช่วยเหลือลูกค้าภายในสิ้นปีนี้ ชู “แชสซีส์ B8R” โปรดักส์เรือธง ดันยอดขายปีนี้ 30 ยูนิต มูลค่า 99 ลบ. แย้มแผนธุรกิจอนาคต เล็งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ “แชสซีส์ BZL” ตอบโจทย์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

คุณเดชชัย กุลกรินีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จำกัด 

          คุณเดชชัย กุลกรินีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจ ว่า จะมุ่งสร้างการรับรู้ให้ลูกค้าได้รับทราบถึงตัวตนของวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) อย่างชัดเจนว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แชสซีส์ วอลโว่ และไม่ใช่ตัวแทนจำหน่าย โดยการสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าในทุกช่องทาง ทั้งการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ การเข้าไปพบปะลูกค้ารายเดิม การเยี่ยมเยือนลูกค้ารายใหม่ รวมทั้งการนำเสนอรูปแบบรถวอลโว่ของแต่ละประเทศให้ลูกค้าได้รับทราบ พร้อมทั้ง ให้มีการกระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อผลิตภัณฑ์แชสซีส์ วอลโว่ ได้โดยตรงกับวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถขยายวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น รวมถึง การสร้างยอดขายให้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ภารกิจหลักของเรา คือ การจำหน่ายแชสซีส์ใหม่ให้แก่ลูกค้า เราจะอธิบายให้ลูกค้ารับฟังอย่างชัดเจนว่า วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) มีการจดทะเบียนและแต่งตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว มีทีมงานวอลโว่ บัสอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าเขาสามารถซื้อขายโดยตรงกับเราได้ เราได้เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่เราก่อตั้งวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) ปัจจุบัน กระแสตอบรับค่อนข้างดีมาก โดยเฉพาะลูกค้าเก่าๆ มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ผลิตภัณฑ์จะมีคนดูแล และมีทีมงานของวอลโล่ บัสดูแลเขา คาดว่าภาพของวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปีหน้า” คุณเดชชัยกล่าว

          สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) ในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะต้องรอดูสถานการณ์การท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบ ขณะนี้ จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการจองเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจรถบัสเริ่มมีการขยับตัวพร้อมให้บริการ รวมถึง ลูกค้าเริ่มมีการซ่อมรถด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) มีแผนที่จะร่วมมือกับยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ในการจัดแคมเปญโปรโมชั่นภายในสิ้นปีนี้ อาทิ การลดราคาอะไหล่เพื่อช่วยเหลือลูกค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ หากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อธุรกิจของวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) คาดการณ์ยอดขายผลิตภัณฑ์แชสซีส์ B8R สำหรับรถโคช จำนวน 30 ยูนิต หรือคิดเป็นมูลค่า 99 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขจะใกล้เคียงกับยอดขายของปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายตัวเลขยอดขายดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจาก ปัจจุบันธุรกิจได้เริ่มฟื้นตัวและกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว

สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์แชสซีส์ วอลโว่ โดย DNA คือ ความปลอดภัย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรก ระบบช่วยเบรก และอื่นๆ จะดำเนินการเต็มรูปแบบในสเปกที่รับได้ ส่วนการประกอบตัวถัง วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพตัวถังให้สอดคล้องกับแชสซีส์คุณภาพระดับโลกของวอลโว่ บัส

ด้านความทนทานของแชสซีส์ คือ การผลิตมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า หรือกล่าวได้ว่าได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าใช้รถ และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าซ่อม โดยมีระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องค่อนข้างนาน อาทิ หากรถวิ่งในตัวเมืองจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในระยะ 40,000 กิโลเมตร และหากรถวิ่งนอกเมืองจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในระยะ 60,000 กิโลเมตร เป็นต้น ซึ่งเป็นความคุ้มค่าที่ลูกค้าได้รับกลับไป

“ในเรื่องความคุ้มค่า เราถือว่าเราออกแบบแชสซีส์ B8R มาได้ดี ซึ่งต้นแบบคือ B7R ที่ดีอยู่แล้ว เราเพียงแค่ปรับเปลี่ยนช่วงล่างใหม่ให้มีความเหมาะสมกับตัวรถเท่านั้น ในปัจจุบัน แชสซีส์ B8R ถือเป็นโปรดักส์เรือธงของเรา ด้วยประสิทธิภาพที่ล้ำหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าประสบความสำเร็จ ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว พร้อมทั้ง ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีของวอลโว่” คุณเดชชัยกล่าว

          นอกจากนี้ในปี 2567 วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) มีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ “แชสซีส์ BZL” ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแชสซีส์ รถไฟฟ้า เครื่องยนต์ดีเซลสำหรับรถโดยสารประจำทาง (City Bus) เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยปัจจุบันแชสซีส์ BZL ได้มีการเปิดตัวพร้อมกันทั่วโลกแล้ว สำหรับในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะต้องรอดูสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ ทั้งในแง่ความพร้อมของธุรกิจ การแข่งขัน อัตราภาษี หรือ นโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐ เป็นต้น

ปัจจุบัน วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) มีลูกค้ามากกว่า 200 บริษัท ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เซ็กเมนต์ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการรถโดยสารท่องเที่ยว 2.ผู้ให้บริการรถรับส่งพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม และ 3.รถโดยสารขององค์กรภาครัฐ ขณะที่ รายได้หลักของวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จะมาจากผู้ประกอบการรถโดยสารท่องเที่ยว ที่ครองสัดส่วนสูงถึง 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% จะกระจายไปอยู่ในส่วนของผู้ให้บริการรถรับส่งพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม และรถโดยสารขององค์กรภาครัฐ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จึงมีแนวคิดที่จะขยายฐานลูกค้าทั้ง 3 เซ็กเมนต์ให้มีความสมดุล โดยจะมุ่งเน้นไปยังผู้ให้บริการรถรับส่งพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ให้บริการรถรับส่งพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก และยังคงให้บริการรับส่งพนักงานเช่นเดิม ซึ่งในทางกลับกัน ผู้ประกอบการรถโดยสารท่องเที่ยวจะหยุดให้บริการทันที

          คุณเดชชัย กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขการจดทะเบียนของรถบัสในประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยรวมเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ปีละกว่า 1,000 คัน ขณะที่ ตัวเลขการจดทะเบียนรถบัสของปีนี้จนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 68 คัน ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ 139 คัน หรือลดลง 51.0791% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหยุดประกอบกิจการของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ลูกค้าหยุดประกอบกิจการ วอล โว่บัส (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการหยุดนิ่งแต่อย่างใด โดยได้มีการเข้าไปดูแลลูกค้า พร้อมทั้ง ให้คำแนะนำในการดูและรถขณะที่จอดนิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมทั้ง ให้มีความมั่นใจว่าหากมีการนำมาใช้งานจะสามารถขับเคลื่อนได้ทันที ทั้งนี้ หากลูกค้าไม่ดำเนินการดูแลรถ และเมื่อนำมาใช้งานใหม่ อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000-180,000 บาท ไม่ว่าจะเป็น ค่ายางรถบัส ค่าแบตเตอรี่ และค่าน้ำมันเครื่อง เป็นต้น ทั้งนี้ การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา วอล โว่บัส (ประเทศไทย) ได้ประกาศแต่งตั้งผู้ประกอบตัวถังวอลโว่ บัส จำนวน 3 รายให้เป็นโรงประกอบตัวถังวอลโว่ บัส อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ จำกัด, บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท พานทองกลการ จำกัด ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการประกอบตัวถังวอลโว่ บัสให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึง การเพิ่มทางเลือกในการสรรหาผู้ประกอบตัวถังวอลโว่ บัส เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เหมาะกับธุรกิจ และในปี 2566 มีแผนที่จะแต่งตั้งผู้ประกอบตัวถังวอลโว่ บัสเพิ่มอีก 1 ราย โดยจำนวนผู้ประกอบตัวถังวอลโว่ บัส 4 ราย ถือได้ว่าเพียงพอสำหรับการให้บริการลูกค้าแล้ว

ขณะที่ ภาพรวมของธุรกิจนี้ ค่อนข้างแข่งขันสูงและดุเดือด โดยในเซ็กเมนต์จะมีรถบัสประมาณ 1,000 คันต่อปีในสถานการณ์ปกติ ซึ่งบริษัทพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ที่ 10-12% พร้อมทั้ง วางกลยุทธ์ด้วยการหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง และการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

          คุณเดชชัย กล่าวต่อว่า ในธุรกิจเดิม วอลโว่ บัส จะอยู่ภายใต้ วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย วอลโว่ ทรัค วอลโว่ บัส และ ยูดี ทรัคส์ หลังจากนั้น อีซูซุ มอเตอร์ และวอลโว่ สวีเดนได้มีการเจรจาเรื่องการซื้อขายยูดี ทรัคส์ ซึ่งบรรลุผลในปี 2563 ดังนั้น จึงไม่มีวอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) อีกต่อไป ขณะเดียวกัน วอลโว่ ทรัคส์ (ประเทศไทย) ได้แต่งตั้งยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ให้เป็น Importer ในการจัดจำหน่ายวอลโว่ ทรัคส์ และดูแลหลังการขาย

สำหรับวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) เนื่องจากธุรกิจแตกต่างจากวอลโว่ ทรัคส์ (ประเทศไทย) โดยวอลโว่ ทรัคส์ (ประเทศไทย) มีรูปแบบในลักษณะมาตรฐาน ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกรุ่น เลือกสี ได้ตามความต้องการ ขณะที่ วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จะเป็นแชสซีส์ และลูกค้าในประเทศไทยจะเป็นผู้เลือกผู้ประกอบตัวถัง หรือ Body Builder ดังนั้น วอลโว่ สวีเดนจึงได้เล็งเห็นว่าไม่สามารถที่จะตั้งผู้ใดมาเป็นผู้ขายแชสซีส์ในประเทศไทยได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งวอลโว่ บัส (ประเทศไทย) ในปี 2564 โดยวอลโว่ บัส สวีเดน เป็นผู้ถือหุ้น

ด้านการบริการหลังการขาย วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) ได้แต่งตั้งยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) เป็นผู้ดูแลทั้งหมด นอกจากนี้ เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วอลโว่ บัส (ประเทศไทย) จึงมีการลงทุนมากกว่า 370 ล้านบาท ทั้งในด้านทุนจดทะเบียน และการเทคโอเวอร์ธุรกิจออกมาจากยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น

www.volvobuses.com 

 

Page Visitor

010633428
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
924
4975
30946
128044
137776
10633428
Your IP: 18.117.183.150
2024-04-27 05:27
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.