May 02, 2024

Biz Focus Industry Issue 133, February 2024

User Rating: 5 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar ActiveStar Active
 

บลูฟาโล่ เพ็ทแคร์ เดินเครื่องเต็มสูบรองรับการเติบโตปี 67 หลังเพิ่มกำลังการผลิตแตะ 20,000 ตัน

          บลูฟาโล่ เพ็ทแคร์ เตรียมรับการเติบโตธุรกิจอาหารสัตว์ปี 67 หลังขยายโรงงานแห่งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตถึง 20,000 ตันต่อเดือน คาดหากเป็นไปตามเป้า 5 ปี มีแพลนขยายเพิ่มอีก 1 แห่ง พร้อมดันกลยุทธ์ สร้างการรับรู้ 3 แบรนด์ BOK DOK, Catty Cat และ Tony ดึงจุดเด่นด้านนโยบายผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ ในราคาถูก ออกไปให้คนเลี้ยงสัตว์ใช้

คุณธานัท โตทัพ ประธานกรรมการ บริษัท บลูฟาโล่ เพ็ทแคร์ จำกัด 

          คุณธานัท โตทัพ ประธานกรรมการ บริษัท บลูฟาโล่ เพ็ทแคร์ จำกัด กล่าวว่า บลูฟาโล่ เริ่มต้นมาจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์โดยเฉพาะ จนมีความเชี่ยวชาญตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างโรงงานไปถึงกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ผนวกกับมองเห็นโอกาสจากการเติบโต เนื่องจากเทรนด์การเลี้ยงสัตว์กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก จึงเป็นจุดเริ่มในการทำธุรกิจด้วยการเป็น OEM ทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ และภายหลังได้สร้างแบรนด์อาหารสัตว์ของตนเองออกมา 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ BOK DOK, Catty Cat และ Tony

          จากความมุ่งมั่นในการส่งมอบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า ส่งผลให้บริษัทเติบโตและสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 20,000 ตันต่อเดือน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ด้วยงบลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท พร้อมได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ปัจจุบันเริ่มผลิตมาแล้วกว่า 1 ปี มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,000 ตันต่อเดือน ขณะที่โรงงานเก่ามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5,000 ตันต่อเดือน ทั้งนี้ บริษัทได้แยกการผลิตอาหารสัตว์ออกเป็น 2 ส่วน คือ โรงงานเดิมผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจ และโรงงานใหม่ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

          “ตอนนี้รวมกัน 2 โรงงานเราก็มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 20,000 ตัน โดยใน 5 ปีข้างหน้าเรามีแผนจะสร้างโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มอีก 1 โรงงาน หากธุรกิจเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ และนอกจากนี้ยังมีอีก 1 โรงงานเป็นโรงงานอาหารเปียก ที่พึ่งเริ่มเดินเครื่องผลิต โดยลงทุนไปประมาณ 700 ล้านบาท เน้นผลิตอาหารเปียกเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างยอดขายได้ 2,000 ล้านบาท ในปีแรกของการเดินเครื่อง” คุณธานัทกล่าว

          สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจปี 2567 คุณธานัท กล่าวว่า หลังเปิดโรงงานอาหารเปียก บริษัทจะเน้นทำการตลาดกับ 3 แบรนด์หลักของเราอย่าง BOK DOK, Catty Cat และ Tony เนื่องจากเราเป็นแบรนด์อีโคโนมีเกรด ถึงจะอยู่ในตลาดมานานแต่ก็ไม่ได้มีการโปรโมทมากนัก ผู้คนจึงไม่ค่อยรู้จัก ฉะนั้นในปีนี้ บริษัทได้วางงบการตลาดไว้ประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อเน้นสร้างการรับรู้แบรนด์โดยเฉพาะ ซึ่งเราจะพยายามโปรโมททุกๆ ช่องทาง ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ รวมถึงช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้ทุกคนรู้จักเรามากขึ้นด้วย

          ขณะเดียวกันในด้านการผลิต แน่นอนว่าบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์และพันธกิจในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงที่ให้ความสำคัญกับ 1. คุณภาพ จากการพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบและส่วนผสม ไปจนถึงการรักษามาตรฐานการผลิตอย่างเข้มงวดเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จากเราทุกชิ้นผ่านมาตรฐานในระดับสากล 2. ราคา จากความมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาย่อมเยาสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยไม่ลดทอนคุณภาพหรือคุณค่าทางโภชนาการ

          3. ลูกค้า เราพยายามรองรับความต้องการของลูกค้าในทุกด้านและไม่เคยหยุดที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจสัตว์เลี้ยง โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนด้วยการให้บริการที่ดี, การสื่อสารที่รวดเร็ว และการสนับสนุนอย่างใส่ใจ และ 4. นวัตกรรมและความยั่งยืน ซึ่งเราไม่เคยหยุดเรียนรู้ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยเน้นใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงการคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งที่มาที่ยั่งยืนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผลกระทบต่อชุมชนและโลกน้อยที่สุด

          นอกจากนี้ในอนาคต บริษัทยังมีแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลสัตว์ด้วย เนื่องจากเรามองว่าการพาสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ 1 ครั้ง มีค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก อย่างไรก็ตามด้วยเจตนารมย์ที่อยากให้ผู้เลี้ยงสัตว์สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปเข้ารับการรักษาที่ดีในราคาที่เป็นมิตร บริษัทจึงได้วางงบลงทุนไว้ที่ 600 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานพยาบาลสัตว์ โดยตั้งเป้าจะสร้างใกล้กับศูนย์ราชการ ย่านแจ้งวัฒนะ ภายในปี 2569 หลังจากดำเนินการขยายโรงงานผลิตต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

          คุณธานัท กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจอาหารสัตว์ด้วยว่า ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นธุรกิจที่เติบโตทั้งโลก โดยเติบโตมากกว่า 15% เนื่องจากพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การอยู่กับสื่อหรือโทรศัพท์มากขึ้น คนโสดเยอะขึ้น หรือคนที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตรมีมากขึ้น สาเหตุต่างๆ นี้ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับความเหงาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการเลี้ยงสัตว์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเหงาในใจของคนกลุ่มนี้ลงได้ ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้รับอานิสงส์เติบโตตามไปด้วย

“ด้วยเทรนด์การเลี้ยงสัตว์นี่แหละ ที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสการเติบโตในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มันเติบโตทั้งโลก บลูฟาโล่เราถือเป็นบริษัทผลิตอาหารหมาแมวที่อายุน้อยที่สุดในไทย แต่ก็ถือว่าเติบโตไวที่สุดเช่นกัน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการผลิต และประสิทธิภาพการทำกำไร และเป้าหมายของเราเอง เรามีนโยบายชัดเจนว่า ‘เราจะทำอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพดี และราคาถูกออกไปให้คนเลี้ยงสัตว์ใช้ อันนี้เป็นเป้าหมายที่ยากนะ เพราะของดีราคาแพงใครๆ ก็ทำได้ แต่ของดีราคาถูกนี่ทำยาก ซึ่งถ้าทำได้ก็ขายได้แน่ๆ และจากเป้าหมายนี้เองทำให้เราเติบโตได้ไว และสร้างผลกำไรได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน” คุณธานัทกล่าว

          คุณธานัท กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ คือ เรื่อง R&D การคิดค้นสูตรใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ อย่างเช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่มักจะกังวลในเรื่องโรคไตในสัตว์เลี้ยง ฉะนั้นอาหารสัตว์ของเราจะไม่มีส่วนผสมของเกลือ จะใช้แค่ในกระบวนการผลิตในส่วนของ Boiler เท่านั้น รวมถึงเราต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี สด ใหม่ พร้อมกับการใส่วิตามินแร่ธาตุต่างๆ ให้ครบถ้วนตามโภชนาการที่สัตว์เลี้ยงต้องการ ให้เขาแข็งแรงไม่เป็นโรค ซึ่งเราต้องใส่ใจสุขภาพเขาด้วยเช่นกัน สำหรับ R&D บริษัทก็มีทีมวิจัยของเราเอง พร้อมกับมีฟาร์มทดลอง ซึ่งเราจะเรียกว่า “บ้านหมาแมว” โดยอาหารที่ถูกคิดค้น จะถูกนำมาทดลองให้สัตว์เลี้ยงกินเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อดูสภาพขน สายตา ไต และระบบขับถ่าย ฯลฯ เมื่อพัฒนาจนได้สูตรที่ต้องการเราจึงเริ่มผลิตออกสู่ตลาด

          นอกจากนี้อีก 1 หัวใจสำคัญของการผลิตที่ขาดไม่ได้เลย คือเรื่องมาตรฐาน โดยโรงงานอาหารสัตว์ทุกโรงงาน ต้องมี 2 มาตรฐานสำคัญ ที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์ คือ Good Manufacturing Practice หรือ GMP อันเป็นเครื่องหมายในการรับรองคุณภาพการผลิตของผู้ผลิต และ Hazard Analysis and Critical Control Point System หรือ HACCP มาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร ซึ่งเป็น 2 มาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องมี หากไม่มีก็ไม่สามารถผลิตได้ ส่วน OEM ต่างประเทศ เราก็ต้องผ่านมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศเช่นกัน อาทิ มาตรฐาน The British Retail Consortium หรือ BRC ที่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นการจะเข้าไปผลิตให้ผลิตภัณฑ์ของประเทศใดเราต้องดำเนินการตามมาตรฐานของประเทศนั้นๆ ด้วย

          ทั้งนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยาว์ ด้วยประสบการณ์ที่มียาวนานกว่า 20 ปีสะท้อนให้เห็นทัศนคติในการดำเนินธุรกิจของบลูฟาโล่ เพ็ทแคร์ เราตั้งใจที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเราทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบ OEM รวมถึงผลิตภัณฑ์แบรนด์ของเราเอง เรามีความเข้าใจถึงความผูกพันระหว่างสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่ดีที่สุด

          “สุดท้ายนี้ผมอยากฝากถึงผู้เลี้ยงสัตว์ หรือเพ็ทเลิฟเวอร์ว่า อยากให้กลับมามองอาหารสัตว์ที่ผลิตโดยคนไทย อาหารที่ผลิตจากการใช้วัตถุดิบในประเทศไทย เพราะเป็นอาหารที่เหมาะสมและมีคุณค่าต่อสัตว์เลี้ยงของท่านตามพื้นที่ ตามแหล่งที่อยู่ของไทย ตอนนี้เราอาจจะโดนการตลาดหลอกว่าอาหารแพงคืออาหารดี ซึ่งจริงๆ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ อาหารแพงส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็ทำมาจากวัตถุดิบต่างประเทศที่เป็นเมืองหนาว วัตถุดิบจำกัด พอเราเจอการตลาดอาจจะทำให้เราหลงเชื่อว่าของดีต้องแพง และนำเข้าเท่านั้น จริงๆ ไม่ใช่เลย วัตถุดิบในประเทศเราก็มีคุณภาพเหมือนกัน ก็อยากให้คนเลี้ยงสัตว์เปิดใจรับอาหารที่ผลิตในไทย เพราะเหมาะสมกับสัตว์ในภูมิภาคนี้จริงๆ เราเป็นเมืองร้อนสัตว์เลี้ยงของเราก็ควรได้กินอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบแหล่งเดียวกัน ก็อยากฝากให้ผู้เลี้ยงสัตว์มองจุดนี้” คุณธานัท ฝากทิ้งท้าย

www.bluefalogroup.com

 

Page Visitor

010659018
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1295
4439
21716
5734
147900
10659018
Your IP: 18.221.239.148
2024-05-02 05:35
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.