ดีพร้อม จัดงาน “Hybrid Gallery Showcase” ดึง 'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย' โชว์ศักยภาพสู่เวทีโลก หวังสร้างเศรษฐกิจประเทศโตยั่งยืน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน จัดงาน “Hybrid Gallery Showcase” ดึง 'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย' โชว์ศักยภาพและความพร้อมผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก เร่งยกระดับเอสเอ็มอียุคใหม่ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ต่อยอดอดีต – ปรับปัจจุบัน – สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ตั้งเป้าดันรายได้ผู้ประกอบการเพิ่ม 40 – 60% หวังสร้างเศรษฐกิจประเทศโตยั่งยืน
กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม: DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการไทยผ่านกิจกรรมประยุกต์และต่อยอดอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา ขยายโอกาสทางธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน ด้วย 7 กลไกปั้นชุมชนดีพร้อม มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม สร้างแบรนด์ชุมชนดีพร้อม ให้เชื่อมโยงสู่การตลาดชุมชนดีพร้อม จัดงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถศิลป์แฟชั่นไทย “Hybrid Gallery Showcase” ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ยกทัพผู้ประกอบการรวมกว่า 80 ราย จัดโชว์เคสผลงานหัตถศิลป์ยุคใหม่ ดึง 'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย' อวดสายตานักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ณ ลานเมือง 3 หนุมาน เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ชั้น G หนุนผู้ประกอบการหัตถศิลป์ แฟชั่น และสิ่งทอเข้าถึงกลุ่มลูกค้ายุคใหม่มากขึ้น คาดมีผู้เข้าชมงาน 1,000 คน ต่อวัน หวังดันรายได้ผู้ประกอบการในโครงการฯ เพิ่ม 40 – 60 % สร้างการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ การกินดีอยู่ดี และลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ
นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กิจกรรม “Hybrid Gallery Showcase” เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ ยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาประยุกต์และต่อยอดอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา เข้าสู่ช่องทางธุรกิจออนไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง DIProm Virtual Gallery ของกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เน้นกระบวนการประยุกต์ต่อยอดความเชี่ยวชาญพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างกลไกเชื่อมโยงการรวมกลุ่มช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนาความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยรวม และนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาเชื่อมโยงเข้าสู่ช่องทางธุรกิจออนไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง DIProm Virtual Gallery ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการสื่อสารให้ลูกค้าเห็นภาพสินค้า บริการ กระบวนการผลิต พื้นที่แหล่งผลิต เป็นประสบการณ์ที่เสมือนจริง โดยไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริงก่อนการตัดสินใจซื้อ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันสู่ระดับสากลอีกช่องทางหนึ่งด้วย”
สำหรับกิจกรรมจัดแสดงสินค้า “Hybrid Gallery Showcase” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการยุคใหม่ ตลอดจนจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการให้ได้มีโอกาสแสดงผลงานจริง เพื่อต่อยอดสู่การทำตลาดบนช่องทางออนไลน์ มีเครือข่ายทางธุรกิจจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ และเป็นช่องทางเพิ่มรายได้มากขึ้น
โจทย์หลักของโครงการมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมยกระดับ “สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะ” ให้สามารถต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กลายเป็นจุดขายดึงเอกลักษณ์ 'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย' มาพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญให้ผลงานตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และรสนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก “ต่อยอดอดีต” ดึงรากเหง้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ “ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่างๆ ทั้งโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดิจิทัล และ “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ การกินดีอยู่ดี และลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ
ทั้งนี้ จะเน้นพัฒนาธุรกิจใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- สินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ
- สินค้าหัตถกรรม เครื่องใช้และของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ และของชำร่วย
- อาหาร และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
ในปีนี้ โครงการฯ ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 สร้างองค์ความรู้ด้านความรู้ด้านการผลิตและการตลาด พร้อมใช้เทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ผ่านช่องทางการสัมมนาออนไลน์ Virtual Gallery for Digital Marketing ระยะที่ 2 สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และการจัดทำแผนธุรกิจ ระยะที่ 3 พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อต่อยอดสินค้านวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ และระยะที่ 4 จัดกิจกรรมเสวนา / เจรจาการค้า / จัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์
ผู้เข้าร่วมโครงการปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 100 ราย สำหรับกิจกรรม “Hybrid Gallery Showcase” มีสินค้าจากผู้ประกอบการมากกว่า 100 รายการ มาจัดแสดง โดย มีสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มสินค้าหัตถกรรม เครื่องใช้และของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ และของชำร่วย และ กลุ่มอาหาร และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
โดยตั้งเป้าหมายให้ จำนวนรายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชน (GDP) เพิ่มขึ้นมากว่า 30% วิสาหกิจ ธุรกิจชุมชน มีโอกาสเข้าสู่ตลาดสากลได้ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน
“สำหรับทิศทางในปี 2566 ทาง กสอ. ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนโรดแมพพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดในประเทศและตลาดโลกได้ กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายตลาดทั้งภายในประเทศและขยายไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงตลาดโลกในอนาคตซึ่งทาง กสอ. มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ จากภาคีเครือข่ายที่จะช่วยต่อยอดให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั้งการพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ และยังช่วยสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อแก่ผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมการเปลี่ยนตลาดไปสู่อนาคต ก่อให้เกิดสภาพคล่อง SME และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” นายวัชรุน กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 02 4306882 หรือ เว็บไซต์ https://dci.dip.go.th/