GSK จับมือ มหิดล และ depa เดินหน้าสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI
เพื่อคิดค้นยานวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับสากล
ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงานสัมมนา “AI in Drug Discovery, Ahead Together for Future Healthcare” การใช้เทคโนโลยี AI ในการคิดค้นยานวัตกรรม เพื่อก้าวนำหน้ามุ่งสู่อนาคตในการดูแลสุขภาพที่ดีด้วยกัน จัดโดย บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น จำกัด หรือ GSK ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อแลกเปลี่ยนและส่งต่อองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเภสัชกรรมของไทย สร้างเสริมศักยภาพประเทศในระดับสากล โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยน
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น อว. ให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดเชิงรุกในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตยาและวัคซีน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว สนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK ในฐานะผู้มุ่งมั่นพัฒนาด้านชีวเภสัช (Biopharma) และผู้นำในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรม มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนายานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนและส่งต่อองค์ความรู้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนายานวัตกรรม และผลักดันโครงการด้านเทคโนโลยี AI ในประเทศให้มีความก้าวหน้า ซึ่งเทคโนโลยี AI มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการคิดค้นยาและวัคซีนนวัตกรรม และเป็นหนึ่งในพื้นฐานนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ (S-Curve) ของประเทศไทย สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของประเทศ โดย GSK พร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านเทคโนโลยี AI เพื่อสุขภาพอย่างเต็มที่ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นในการผลิตมหาบัณฑิตที่มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์และสุขภาพในทุกสาขา โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานของสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล ซึ่งมีโครงการวิจัยแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศอีกหลายแห่ง ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI เพื่อตรวจและวินิจฉัยโรค และกำลังศึกษาพัฒนาการนำ AI มาใช้ในการคิดค้นและผลิตยานวัตกรรม ด้วยระบบ AI จะทำให้การผลิตยาด้วยความแม่นยำและลดระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนา ส่งผลต่อการพัฒนาวงการแพทย์และยารักษาโรคให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ภายในงานสัมมนา ดร.คิม แบรนสัน Senior Vice President and Global Head of Artificial Intelligence and Machine Learning, GSK ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ของ GSK ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี AI ในการคิดค้นยา พร้อมด้วย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) พร้อมด้วยนักวิชาการไทย โดย ผศ.ภก.ดร.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล คณะเภสัชศาสตร์ ผศ.ดร.พรชัย บำรุงศรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ดร.ทิพาจินต์ ไทยพิสุทธิกุล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภก.ดร.ณฐพล พรพุทธพงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การชับเคลื่อนด้าน Digital Health Tech ของประเทศไทย