พีอีเอ เอ็นคอมเปิดยุทธศาสตร์การลงทุนปี 57-58
พีอีเอ เอ็นคอมเดินหน้า 6 เมกะโปรเจคปี 57 ตอบรับความสำเร็จครบรอบ 4 ปี ส่วนแผนปีหน้าเตรียมลงทุนอีก 3 โปรเจครุกธุรกิจพลังงานทดแทนทุกประเภททั้งในและต่างประเทศรับ AEC เต็มสูบ
คุณปัญญา เล่าชู รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ พีอีเอ เอ็นคอม (PEA ENCOM) บริษัทในเครือแห่งแรกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจครบรอบ 4 ปี โดยเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา และได้รับความเชื่อมั่นอย่างดีจากลูกค้าทั้งด้านคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินงานในด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเน้นส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้กับประเทศเพื่อให้สอดรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนยุทธศาสตร์การลงทุนในระยะเวลา 5 ปี (2557-2561) สำหรับในปี 2557 ประกอบด้วย 6 แผนการลงทุน ดังนี้
1. การร่วมทุนกับบริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ในโครงการโซล่าร์ฟาร์ม ภายใต้ชื่อ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สุรินทร์ 1 ) จำกัด ,บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สุรินทร์ 2) จำกัด, บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (เลย 2) จำกัด และบริษัท โซล่า เพาเวอร์ ( ขอนแก่น 10) จำกัด จำนวน 4 แห่ง ขนาดกำลังผลิตแห่งละ 7.46 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น 25% คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 165 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการ 2,640 ล้านบาท ขณะนี้ได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับคือเงินจากการลงทุน 10 ล้านบาท จากทั้งหมด 4 ไซต์ ในช่วงแรก (มิ.ย.-ธ.ค.2557)
2. การร่วมทุนกับบริษัท ปณวัฒน์ รีนิวเอเบิล จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สที่ได้จากการหมักน้ำเสีย ขนาด 5 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.กระบี่ มูลค่าการลงทุน 25 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต PPA เพื่อการสร้างโรงงานและขอใบ รง.4 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างไตรมาสแรกปี 2558 โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี สำหรับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับหลังจากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท/ปี
3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการนำร่องจะก่อสร้างที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ขนาด 3.8 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลอยู่และกำลังร่าง TOR ว่าจ้างผู้รับเหมา ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2558 และจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 18 เดือน โดยจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2559 สำหรับรายได้ที่จะได้รับจากโครงการนี้ประมาณ 178 ล้านบาท/ปี
4. โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำฮัม 2 ที่ สปป.ลาว โดยร่วมทุนกับการไฟฟ้า สปป.ลาวและเอกชนไทย กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตในเรื่องต่างๆ จากรัฐบาล สปป.ลาว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในสิ้นปีนี้ โดยจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า สปป.ลาว ส่วนรายได้ที่จะได้รับจากโครงการนี้ประมาณ 20 ล้านบาท/ปี
5. โครงการประหยัดพลังงาน โดยบริษัทจะเข้าไปดูแลอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากๆ ซึ่งจะสนับสนุนและแนะนำให้เปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อประหยัดพลังงาน เช่น การใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจะสร้างยอดขายให้ได้มากกว่า 20 ล้านบาทในปีนี้
6. โครงการฝึกอบรมวิศวกรรมทางด้านไฟฟ้าให้กับบุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โดยจะให้ความรู้ในด้านการจัดการเรื่องระบบไฟฟ้า การซ่อมบำรุง การให้การบริการ การตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่สนใจมาฝึกอบรมทั้งหน่วยงานเอกชนและภาครัฐใช้ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง โดยจัดอบรมเป็นรุ่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา การไฟฟ้าของประเทศภูฏาน ได้เข้ามาอบรมในโครงการดังกล่าวเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
ส่วนแผนการลงทุนในปี 2558 คุณปัญญากล่าวว่า โครงการแรกคือโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 6 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2558 งบลงทุนประมาณ 480 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง 3 ไซต์ ประกอบด้วย เชียงใหม่ จำนวน 9 เมกะวัตต์, ชลบุรี จำนวน 5 เมกะวัตต์ และสมุยจำนวน 2 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปีหน้า รวมทั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ อยู่ คาดจะสามารถก่อสร้างได้ในปีหน้า