Biz Focus Magazine เป็นนิตยสารรายเดือนที่ร่วมส่งเสริมนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐ - เอกชน และนักลงทุน
+(662) 399-1388
editor@bizfocusmagazine.com
กัสโต้ วิลเลจรุกอสังหาฯ เต็มสูบ
กัสโต้ วิลเลจเขย่าตลาดไตรมาสสุดท้าย เล็งเปิดขาย 2 โครงการใหม่ หนุนเป้ารายได้ปีนี้ 3,300 ลบ. ประกาศเนรมิต 10 โครงการใหม่ในปีหน้า ดันรายได้พุ่งอีก 40%
คุณมาโนช เทพอาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัสโต้ วิลเลจ จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภททาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด บ้านเดี่ยว ภายใต้แบรนด์ "กัสโต้" และเป็นในเครือบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ QHouse กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและรอรับรู้รายได้จำนวน 11 โครงการ เช่น โครงการกัสโต้ พหลโยธิน 48 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ จำนวน 163 ยูนิต มูลค่าโครงการ 480 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมทยอยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าแล้ว และคาดว่าจะปิดโครงการในไตรมาสนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงสิ้นปีอีก 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการคาซ่าซิตี้ วัชรพล-เพิ่มสิน (เพิ่มสิน 50 ) จำนวน 361 ยูนิต มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท และโครงการกัสโต้พหลโยธิน-สายไหม จำนวน 250 ยูนิต มูลค่าโครงการ 660 ล้านบาท
“จริงๆ แล้ว ในปีนี้เราเปิดตัวโครงการทั้งหมดแล้ว 13 โครงการ และเราได้ปิดการขายไปแล้ว 2 โครงการ เพราะฉะนั้นจึงเหลือ 11 โครงการที่เปิดขายอยู่ และเรามีแผนที่จะเปิดอีก 2 โครงการในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเป็นทาวน์เฮ้าส์ ในเขตพื้นรอบเมือง หรือเกือบจะใกล้เมือง แต่ไม่ใช่ในใจกลางเมืองที่ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียม โดยคีย์หลักของทาวน์เฮ้าส์คือที่อยู่อาศัยบนที่ดินที่มีขนาดไม่มาก เริ่มต้นที่ 16 ตารางวาขึ้นไปและมีราคาไม่แพง ซึ่งจะแตกต่างจากบ้านซึ่งจะมีขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา หากเป็นบ้านแฝดจะอยู่ที่ 35 ตารางวา ดังนั้น ทาวน์เฮ้าส์จึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในเมืองรอบนอกได้เป็นอย่างดี” คุณมาโนชกล่าว
สำหรับราคาสินค้าของกัสโต้จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้เว็บไซต์, อินเตอร์เน็ต, ไลน์ หรือเฟสบุ๊ก ดังนั้น การตลาดของบริษัทจึงเน้นสื่อออนไลน์ เป็นหลัก นอกจากนี้ในส่วนของ QHouse จะมีไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามากดไลค์เป็นจำนวนมาก เพราะสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องข้อมูลสินค้าได้เป็นอย่างดี
คุณมาโนชกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานในปี 2558 ว่า บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่อีก 10 โครงการ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกและมีพื้นที่รองรับไว้แล้ว 5 แปลง ได้แก่ โครงการที่สุขสวัสดิ์, วงแหวนพระราม 5, กัลปพฤษ์, บางนา-ตราด กม.8 และนครปฐม ส่วนอีก 5 โครงการที่เหลือ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองซื้อที่ดินเพิ่มอีก 5 แปลง
“ในปีหน้า เรามีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่อย่างน้อย 10 โครงการ ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2 5 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการจะมีพื้นประมาณ 20-30 ไร่ จำนวน 200-300 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 500-600 ล้านบาท และจะทยอยรับรู้รายได้หลังจากการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าในไตรมาส 3 เนื่องจาก ขณะนี้ มีบางโครงการที่เราได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยอยู่ระหว่างการถมดิน สร้างบ้านตัวอย่าง เป็นต้น หลังจากนั้น เราจะทยอยเปิดเพิ่มอีก 5 โครงการ
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเปิดตัวโครงการใหม่ ถ้าเป็นไปได้เราอยากจะได้ทำเลที่เกาะติดแนวรถไฟฟ้าแต่ไม่สามารถทำได้เพราะมีราคาแพงมากเกินกว่าที่จะนำมาพัฒนาเป็นทาวน์เฮ้าส์ได้ ดังนั้น จึงเลือกเป็นทำเลที่ตั้งในย่านชุมชนและเส้นทางคมนาคมสะดวก” คุณมาโนชกล่าว
ด้านผลประกอบการในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าให้มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาอีก 50% หรือมีรายได้เพิ่มจาก 2,100 ล้านบาทเป็น 3,300 ล้านบาท โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน เนื่องจาก ในขณะนี้สามารถทำรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว ส่วนในปี 2558 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มจากปีนี้ 40% หรือมีรายได้ประมาณ 4,500 ล้านบาท
ส่วนจุดเด่นของบริษัท ประกอบด้วย การคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง ยังมีทีมพัฒนาการออกแบบ ดังนั้นจึงทำให้รูปแบบและฟังชั่นก์ต่างๆ มีความสวยงามและลงตัว โดยลูกค้าให้การตอบรับดีมาก รวมทั้งความโดดเด่นในเรื่องคุณภาพสินค้าที่ยึดมั่นในนโยบายของ QHouse เสมอมา โดยในแต่ละโครงการจะมีการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางที่สวยงามและดูดี อย่างเช่น ซุ้มโครงการขนาดใหญ่ สวนสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในแบรนด์ “กัสโต้” และอาจบอกต่อไปยังลูกค้ารายอื่นๆ อีกด้วย
คุณมาโนชกล่าวในตอนท้ายถึงแนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายและต่อเนื่องจนถึงปีหน้าว่า ตลาดทาวน์เฮ้าส์ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะราคายังไม่สูงมากสามารถตอบโจทย์คนวัยทำงานอายุประมาณ 30 ปี และมีเงินเดือนประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป ได้เป็นอย่างดี โดยมีราคาเฉลี่ย 2-3 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านเดี่ยวในรอบนอกเมืองซึ่งเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 4-5 ล้านบาท และส่วนใหญ่ลูกค้าที่ซื้อทาวน์เฮ้าส์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริง ซึ่งจะแตกต่างจากคอนโดมิเนียมที่อาจซื้อไว้เป็นบ้านหลังที่ 2 หรือไว้เก็งกำไร
สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 คาดว่าจะส่งผลดีต่อคนวัยทำงาน โดยอาจมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีกำลังซื้อทาวน์เฮ้าส์ได้มากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าจะส่งผลดีต่อคอนโดมิเนียมมากกว่า เพราะกฎหมายเอื้อให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ ส่วนทาวนเฮ้าส์จะเป็นทรัพย์สินที่มีที่ดิน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย
กุศมัย มอเตอร์เปิดแผนธุรกิจ
กุศมัย มอเตอร์รุกตลาดโค้งสุดท้าย ตบเท้าเข้าร่วมงาน BUS&TRUCK และ MOTOR EXPRO เฟ้นหาพันธมิตร ลั่น 5 ปี มีความพร้อมและมุ่งเร่งพัฒนาในทุกๆ ด้านตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ชูเป้าหมายสูงสุดสร้างโรงงานผลิตอะไหล่หนุนส่งออกเจาะตลาด AEC
ดร.วิโรจน์ กุศลมโนมัย ประธานกรรมการ บริษัท กุศมัย มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุก 3 ล้อ ภายใต้แบรนด์ “ซูโมต้า” เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า บริษัทจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายปีเพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึงผู้ที่สนใจสินค้าของบริษัทไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าปลีก, ค้าส่ง และตัวแทน
“เราจะได้พันธมิตรจากงานแสดงสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ในปีนี้เราได้เข้าร่วมงาน BUS&TRUCK ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 1-6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา รวมทั้ง งาน MOTOR EXPRO โดยจะจัดในวันที่ 1-10 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าผลตอบรับน่าจะเป็นตามที่คาดการณ์ไว้ ที่ผ่านมาเราได้เข้าร่วมงานดังกล่าวเสมอมา แต่ได้เว้นไปประมาณ 2 ปี เพราะคิดว่ายังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน แต่ ณ ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและพร้อมแล้ว จึงได้มีการเข้าร่วมงานอีกครั้งหนึ่ง” ดร.วิโรจน์กล่าว
โดยในปี 2557 บริษัทครบรอบ 5 ปี ซึ่งนับเป็นปีที่มีความพร้อมเกือบทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านมาร์เก็ตติ้ง, การผลิตรถ, การประกอบรถ, การเซ็ตเงื่อนไขตัวแทนอย่างยุติธรรม, การเซ็ตราคาขาย, การปรับปรุงรถ, การวางระบบเงินผ่อนหรือไฟแนนซ์ และการให้เช่ารถ โดยในส่วนของรถใหม่จะจำหน่ายเป็นเงินสด 100% ส่วนรถเก่าที่ค้างสต๊อกจะนำมาทำโปรโมชั่นให้เช่า เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาในด้านต่าง เช่น การพัฒนารถทุกรุ่นตั้งแต่ขนาด 1 ตันขึ้นไปให้มีระบบเกียร์ต่ำ เพื่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ทั้งในกรุงทพฯ และต่างจังหวัด โดยให้สามารถขึ้นสะพานหรือที่เนินสูงได้เมื่อบรรทุกของหนัก, การพัฒนาโดยนำไฟเบอร์กลาสบุท้ายรถกะบะทั้ง 4 ด้าน สำหรับการป้องกันรอยขีดข่วน ช่วยรักษาสภาพรถให้ดีดังเดิม, การพัฒนาให้มีหลังคาหน้าครบทุกรุ่นให้เหมาะกับสภาพอากาศ ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงแดดและฝนตก, การปรับปรุงเอกสารการจดทะเบียนรถในหมวดรถบรรทุก 3 ล้อส่วนบุคคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า รวมทั้ง การทำ R&D อย่างต่อเนื่องโดยนำคอมเม้นต์ของลูกค้ามาปรับปรุงเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล
“ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งจากตลาดและลูกค้า และบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ โดยธุรกิจนี้เป็นธุรกิจปราบเซียน มีปัญหาเยอะมากๆ แต่เราพยายามแก้ไข ขณะนี้สามารถแก้ไขได้ประมาณ 80% ยังเหลืออีก 20% เพียง 2-3 ปัญหาเท่านั้น คาดว่าอีกประมาณ 2 ปี จะสามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ โดยที่ผ่านมาจะเป็นปีแห่งการเรียนรู้ ส่วนปีที่ 6 จะเป็นปีที่เริ่มต้นใหม่และเติบโตในธุรกิจ” ดร.วิโรจน์กล่าว
ด้านกลุ่มลูกค้าเป้าหมายประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1. กลุ่มเกษตรกร 2. กลุ่มอุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ) 3. กลุ่มท่องเที่ยว (โรงแรม, ร้านอาหาร ) 4. กลุ่มราชการ ซึ่งในปีนี้ บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มราชการ เป็นหลัก โดยให้นำรถไปใช้ในกิจการต่างๆ เช่น นำรถไปเก็บขยะ ส่วนราคาสินค้า ณ ปัจจุบัน บริษัทได้ปรับให้มีราคาเดียวกันทั่วประเทศ เริ่มต้นที่ 79,000-199,999 บาท
“ที่ผ่านมา เราจะเน้นทำการตลาดไปยังกลุ่มเกษตรกรเป็นอันดับแรก แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเพราะมีรายได้น้อยและเราไม่มีระบบเงินผ่อน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนไปเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในต่างจังหวัดเป็นหลักแทนแล้วจึงไปหารายเล็ก หรือใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เราคาดว่าในอนาคต หากเราสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของการมีระบบเงินผ่อนได้หรือเรื่องทะเบียน จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะมีคนสนใจสินค้าของเราเป็นจำนวนมากแต่ซื้อน้อย” ดร.วิโรจน์กล่าว
สำหรับตัวแทนหรือแฟรนไชส์ ที่ผ่านมา บริษัทได้แต่งตั้งไปประมาณ 10 ราย แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้นในปีนี้ บริษัทจึงได้มีการปรับแผนใหม่โดยไม่มีตัวแทนหรือล้างไพ่ใหม่ ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเองและได้จัดตั้งสาขาแรกที่ตลาดไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากนั้น มีแผนที่จะทยอยขยายไปยังต่างจังหวัด อาทิ นครปฐม, ลำปาง, น่าน, ชลบุรี, ลพบุรี และขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขว่าพันธมิตรจะต้องดำเนินการในเรื่องศูนย์บริการและอะไหล่ การจดทะเบียนและระบบเงินผ่อน ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถขยายสาขาหรือเพิ่มพันธมิตรได้ จะส่งผลให้เติบโตแบบก้าวกระโดดประมาณ 5-10 เท่าในอนาคต
ดร.วิโรจน์กล่าวต่อถึงการลงทุนของบริษัทว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบลงทุนกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันยังขาดทุน เนื่องจาก เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ง่ายและต้องพัฒนาตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่อง R&D ที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดขายประมาณ 1,000 คัน/ปี หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท แต่ในปัจจุบัน มียอดขายเพียง 200 คันเท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลอีก 5 เท่าตัว ส่วนการคืนทุนจะอยู่ที่ยอดขาย 400 คัน และหากมียอดขายในระดับที่ 500 คัน จะเป็นผลกำไร พร้อมทั้งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้าจึงจะบรรลุเป้าหมาย 1,000 คัน
“เรามีแผน 2 สเต็ป ซึ่งสเต็ปแรกคือหนึ่งคือผลักดันให้มีกำไรด้วยยอดขาย 500 คันและ 1,000 คัน ตามลำดับ ส่วนสเต็ปที่ 2 คือการปรับโครงสร้าง โดยมีแผนที่สร้างโรงงานจะผลิตอะไหล่ในประเทศ จากปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างประเทศ 40% เช่น ไต้หวัน, เกาหลี และจีน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเราในอีก 10 ปีข้างหน้าคือการผลิตรถบรรทุก 3 ล้อส่งออกไปยังตลาด AEC เพราะเมื่อเราใช้อะไหล่ที่ผลิตในประเทศเกิน 40% ขึ้นไป ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ที่ 60% สามารถกล่าวได้ว่าเป็นรถสัญชาติไทยและยังส่งออกได้อีกด้วย” ดร.วิโรจน์กล่าว
ด้านจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกอบด้วย 1. เป็นรถที่ประหยัดน้ำมัน โดยได้รับการยอมรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี 2. มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานของต่างประเทศ แข็งแรงและทนทาน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่จำหน่ายรถบรรทุก 3 ล้อเพียงอย่างเดียว
สำหรับสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้าสนับสนุนคืออยากให้ภาครัฐเข้ามาซื้อรถของบริษัทไปใช้เพราะมีประโยชน์ต่องานราชการเป็นอย่างมาก และการลดขั้นตอนในการจดทะเบียนรถเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีความยุ่งยากเป็นอย่างมาก รวมทั้งอยากให้ธนาคารต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัทในการจัดทำระบบเงินผ่อน เพื่อทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถได้ง่ายยิ่งขึ้น และจะทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ อยากเชิญชวนแนวร่วมที่ดำเนินธุรกิจขายรถมอเตอร์ไซด์หรือเต้นท์รถซึ่งมีจำนวนมาก โดยให้นำรถของบริษัทเข้าไปวางจำหน่าย ภายใต้เงื่อนไขที่ยุติธรรมและไม่เอาเปรียบ
เหมราชขานรับ กนอ. ขยายพื้นที่เพิ่มหนุนการเติบโต
เหมราชรับ กนอ. อนุมัติขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 631 ไร่ เล็งลงทุนเพิ่มในอีก 2 ปีข้างหน้า (2558-2559) กว่า 7 พันลบ. ตั้งเป้าปี 58 ผุดโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอีก 7 แห่ง
มร.เดวิด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรีอีกประมาณ 631 ไร่ จากพื้นที่เดิมที่มีอยู่กว่า 3,700 ไร่ โดยได้รับการอนุมัติจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ กนอ. ปัจจุบันเริ่มดำเนินการขยายแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะใช้งบประมาณการลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า (2558-2559) ประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งในส่วนการขายที่ดินสำหรับสร้างโรงงาน, การสร้างโรงงานให้เช่า, การสร้างโกดังสินค้าให้เช่า, การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
สำหรับแผนการลงทุนส่วนใหญ่ บริษัทจะเน้นการลงทุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 50% และอุตสาหกรรมอื่นๆ 50% อาทิ อิเลคทรอนิกส์และอาหาร เป็นต้น โดยที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเหมราชให้เป็น Automobile Hub มาโดยตลอด ล่าสุดยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการพัฒนาโครงการ Eco-car ในอนาคตอันใกล้นี้อีกเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงต้องส่งเสริมกลุ่มยานยนต์เป็นพิเศษเนื่องจากมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก
“ความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่อง Eco-car ในประเทศไทย ตนมองว่าเรื่องคุณภาพของ Eco-car การันตีได้จากเทคโนโลยีที่นำมาผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรและเทคโนโลยีเดียวกับรถยนต์ขนาดมาตรฐานทั่วไป จึงมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่ปลอดภัย ประหยัด และมีมาตรฐานแน่นอน” มร.เดวิด นาร์โดนกล่าว
มร.เดวิด นาร์โดน กล่าวต่อว่า นอกจากแผนการขยายพื้นที่เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรีที่ได้รับการอนุมัติจาก กนอ. แล้ว บริษัทยังมีแผนการลงทุนในปี 2558 ในส่วนของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producers หรือ SPP) ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้ได้จำนวน 7 แห่งภายในปี 2558 ซึ่งในปี 2557 บริษัทได้เปิดตัวไปแล้ว 1 แห่ง ดังนั้นจึงเหลืออีก 6 แห่ง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า นอกจากนี้บริษัทยังได้ศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Independent Power Producers หรือ IPP) ร่วมด้วยเพื่อที่จะดำเนินการในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงประมาณปี 2565
ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจนั้น ตนมองว่าทุกหน่วยงานได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างชะลอการตัดสินใจการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้กลุ่มนักลงทุนกลับมาตัดสินใจการขยายธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ได้รับความสนใจที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน อาทิ ภูมิศาสตร์และสังคม เป็นต้น
AMATA ขานรับ กนอ. ขยายพื้นที่รับนักลงทุน AEC
AMATA ได้รับการอนุมัติจาก กนอ. ขยายพื้นที่นิคมฯ อมตะซิตี้ กว่า 2,524 ไร่ รองรับการเติบโตของกลุ่มอุตฯยานยนต์และนักลงทุนรายใหม่ คาดพัฒนาแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี มูลค่าโครงการประมาณ 7,000-8,000 ลบ.
คุณวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และประธานกรรมการอมตะซิตี้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ได้รับการอนุมัติจากการนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ให้ดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่มกว่า 2,524 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างชาติภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาโครงการใหม่นี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1- 2 ปี และจะมีมูลค่าโครงการ ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าโครงการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
“การดำเนินการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติ จะพัฒนาได้หมดหรือไม่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ถ้าสถานการณ์ปกติ เต็มที่ 1-2 ปี ก็น่าจะพัฒนาหมดแล้ว เรามีประสบการณ์จาก 6 เดือนแรกของปี 2557 ที่การลงทุนต่างๆ ค่อนข้างเงียบ แต่หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้นักลงทุนทราบทิศทางที่แน่ชัดในการลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามนักลงทุนภายในประเทศยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ จึงยังมีการลงทุนอยู่เช่นเดิม ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะเกิดความกลัว ไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะต่างชาติมองว่าภาพการปฏิวัติรุนแรง แต่เมื่อเข้ามาลงทุนแล้วก็จะทราบว่าความจริงแล้ว การปฏิวัติในประเทศไทยไม่มีความรุนแรงอย่างที่คิด” คุณวิบูลย์กล่าว
คุณวิบูลย์ กล่าวต่อว่า หลังจากการได้รับการอนุมัติโครงการดังกล่าว บริษัทได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาติดต่อค่อนข้างเยอะมาก นับตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเฉพาะกิจของท่านประยุทธ์ มีการวาง Road Map ในการบริหารประเทศที่ชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนสามารถที่จะกำหนดทิศทางการทำธุรกิจได้
“เราได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ นโยบายของทางภาครัฐ หรือ Road Map มีความชัดเจนในการบริหารราชการ ทั้งระยะเวลาในการบริหารราชการ หรือโครงการสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จึงทำให้เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีและช่วยเกิดความสบายใจในการวางแผนการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่ผ่านมา” คุณวิบูลย์กล่าว
คุณวิบูลย์ กล่าวต่อถึงกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายว่า ประกอบด้วย
1. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งยังมีช่องทางในการขยายธุรกิจได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของโลก
2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตนจะเน้นไปในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศไทย อาทิ ผลไม้อบแห้ง, ผลไม้แปรรูป และข้าวแปรรูป
3. กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟแวร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทมีแผนจะปรับลดปริมาณคือปิโตรเคมี เนื่องจากจะมีเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ด้านเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คุณวิบูลย์กล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯ ของอมตะ ทั้งการก่อสร้างฐานการผลิต ดำเนินธุรกิจการผลิตและส่งขายสินค้า ตนอยากจะให้ผู้ประกอบการทุกท่านดำเนินธุรกิจให้เต็มความสามารถ ส่วนงานด้านอื่นๆ ที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของทางนิคมฯ ในการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ โรงเรียน, โรงพยาบาล, ธนาคาร และวัด เป็นต้น
“เป้าหมายของเรา คือ ความสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือลูกค้าของเราให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เมื่อเกิดความสำเร็จแล้ว จะทำให้มีการลงทุนเพิ่ม และเราจะมีการพัฒนาเพิ่มเช่นกัน จะก่อให้เกิดความสุขและความสำเร็จร่วมกัน ปัจจุบันเราอาจจะยังพัฒนาได้ไม่มากนัก แต่เราจะมีการพัฒนาเรื่อยๆ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เรายังมีจุดอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องของหนังสือเดินทาง หนังสือทำงาน และดูแลคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายชีวิตด้วย” คุณวิบูลย์กล่าว
อนึ่ง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เป็นบริษัทพัฒนาและจัดการด้านนิคมอุตสาหกรรม ชั้นนำของประเทศไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) ดังนี้
1. นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,020 เฮกเตอร์ (18,873 ไร่ หรือ 7,459 เอเคอร์) ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 2 (BOI) ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 57 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 42 กิโลเมตร โดยมีโรงงาน จำนวน 514 โรงที่พร้อมจะเปิดดำเนินการ ในจำนวนดังกล่าวมีโรงงาน 484 โรงที่ได้เปิดดำเนินงานและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
2. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง มีพื้นที่ 1,603 เฮกเตอร์ (10,080 ไร่ หรือ 4,007 เอเคอร์) ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 (BOI) ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังเพียง 27 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 99 กิโลเมตร โดยมีผู้ผลิตจำนวน 128 รายที่กำลังจะเปิดดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้ ในจำนวนดังกล่าว มี โรงงาน 117 โรงที่ได้เปิดดำเนินงานและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสูงในประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อ อมตะซิตี้ (เบียนหัว)จังหวัดดองไน ใกล้เมืองโฮจิมินห์ เปิดดำเนินการเมื่อปี 2537 มีโรงงาน จำนวน 112 แห่ง บนพื้นที่กว่า 700 เฮกเตอร์ (4,375ไร่ หรือ 1,750 เอเคอร์) เฟสใหม่ของโครงการจะมีบ้านพัก อพาร์ทเมนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกใน ชีวิตประจำวันตามความต้องการของคนจำนวนมาก
“พรอสเพค” ผุดโปรเจค BFTZ ย่านบางนา-ตราด
พรอสเพคเร่งขยายธุรกิจ เนรมิต “โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ)” ย่านบางนา-ตราด บนพื้นที่ 1,000 ไร่ โชว์จุดเด่นสิทธิประโยชน์ด้านภาษีดึงดูดใจนักลงทุน แย้มแผนปีหน้าเตรียมก่อสร้างเพิ่ม 20,000-30,000 ตารางเมตร รับเศรษฐกิจฟื้นตัว
คุณพรศริน เมธีวัชรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนา และให้บริการโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ) เปิดเผยว่า บริษัทได้รุกขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของอาคารโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่าย่านบางนา-ตราด โดยตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน มีพื้นที่จำนวน 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคภายในโครงการ 300 ไร่ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอีก 700 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในรูปแบบอาคารโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่า โดยแบ่งเป็นเขตประกอบอุตสาหกรรมทั่วไป (General Zone) และเขตปลอดภาษีอากร (Free Zone) ปัจจุบันมีพื้นที่สร้างเสร็จพร้อมให้เช่ากว่า 130,000 ตารางเมตร และมีผู้ประกอบการมาเช่าพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้าแล้วมากกว่า 90%
ส่วนจุดเด่นของโครงการนี้ คือสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI, กรมศุลกากร และเขตพื้นที่สีม่วงที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีอากรนำเข้าและอากรส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาเช่าพื้นที่โครงการเพื่อนำเข้าวัตถุดิบและผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเช่าอาคารโรงงานและคลังสินค้าในทำเลศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจสูงสุด
นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของโครงการยังอยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์บนถนนบางนา-ตราด อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิเพียง 17 กิโลเมตร, ท่าเรือกรุงเทพ 23 กิโลเมตร, ท่าเรือแหลมฉบัง 90 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 60 นาที ซึ่งถือเป็นทำเลที่เหมาะแก่การเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งและกระจายสินค้าทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศทั่วโลก
คุณพรศริน กล่าวต่อแผนการดำเนินงานว่า เนื่องจากตลอดปี 2557 บริษัทได้มีการวางแผนการดำเนินงานในการชะลอการลงทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการวางแผนนี้ก็ได้ผลดีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามในปี 2558 บริษัทมีแผนจะขยายการก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยทั้งจากกลุ่มนักลงทุนจากในและต่างประเทศ
“ปี 2557 เรามีการชะลอการก่อสร้าง โดยดำเนินการเพียง 10,000 ตารางเมตรเท่านั้นจากการก่อสร้างโรงงานขนาดกลาง ส่วนปีหน้าเราคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มประมาณ 20,000-30,000 ตารางเมตร เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อการลงทุนดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดี ซึ่งน่าจะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน” คุณพรศรินกล่าว
คุณพรศริน กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าว่า บริษัทมีบริษัท ฟินันซ่า จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่มีความเข้มแข็งและเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท จึงเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นด้านการเงินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริษัทยังมีทีมงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Generation) ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีพื้นฐานในการทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด
สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากถึงภาครัฐ คุณพรศรินกล่าวว่า ตนพอใจนโยบายของภาครัฐในการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่อยากให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอยากให้ภาครัฐมีการปรับปรุง แก้ไขขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ขาดความเข้าใจในการดำเนินการ ก่อให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติการลงทุนต่างๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะประสบปัญหาในขั้นตอนนี้เป็นจำนวนมาก
“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” รับรางวัลระดับอาเซียน
ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ได้รับรางวัล “ASEAN Energy Awards 2014” ด้านการจัดการพลังงานทดแทน ตอกย้ำความสำเร็จโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 20 MW จำหน่ายไฟให้ กฟภ. ปลายปีนี้
คุณวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) หรือ TPIPL ผู้ผลิตปูนซิเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TPIPL ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับอาเซียน ด้านการจัดการพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายไฟฟ้า (Off-Grid)
สำหรับการรับรางวัลในครั้งนี้ บริษัทได้เข้าร่วมการประกวดผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Energy Awards 2014 ครั้งที่ 32 ในโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน ซึ่งได้รับรางวัลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
“นอกจากรางวัลในระดับอาเซียนแล้ว ในปี 2556 ที่ผ่านมา เรายังได้รับรางวัลดีเด่นในระดับประเทศ จากการประกวด Thailand Energy Awards 2014 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน อีกด้วย ซึ่งในขณะนั้นเราได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Energy Awards 2014 และได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการพิจารณาให้เข้าร่วมประกวดในระดับอาเซียน ซึ่งทั้ง 2 รางวัล เราได้เข้าร่วมเป็นปีแรก
การเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ เราไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากโครงการแปรรูปขยะเพื่อให้เกิดเป็นพลังงานทดแทนเป็นกระบวนการทำงานที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยนำพลังงานที่ได้นำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตและภายในโรงงานปูนซิเมนต์ รวมทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เราจะต้องเสียอีกด้วย” คุณวรวิทย์กล่าว
คุณวรวิทย์ กล่าวต่อว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา โดยโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) สามารถรองรับขยะจากชุมชน ขยะจากบ่อเก่าและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นพิษได้ประมาณ 600-800 ตันต่อวัน ซึ่งจะรับขยะจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สระบุรี, ลพบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครนายก และปทุมธานี เป็นต้น โดยสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 15-18 เมกะวัตต์ต่อวัน
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชนคือมุ่งหวังที่จะลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน โดยเฉพาะในโรงงานปูนซิเมนต์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในอัตราที่สูงมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาและลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการมุ่งเน้นที่จะยกเลิกการจัดการขยะด้วยวิธีการฝังกลบแบบเก่า เพื่อลดปัญหาของขยะที่ล้นเมือง ปัญหาขยะตกค้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบพื้นที่บริเวณที่มีการฝังกลบขยะ โดยวิธีที่ดีสุดคือการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สำหรับการดำเนินการดังกล่าวบริษัทได้รับการตอบรับจากชุมชนโดยรอบเป็นอย่างดี
“การแปรรูปขยะเป็นพลังงานในประเทศไทยยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการมานานแล้วและมีวิธีการจัดการขยะที่ดี เพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะตกค้าง ทั้งนี้ การจัดการขยะแบบฝังกลบยังก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว ซึ่งสิ่งที่จะสามารถลดขยะได้ดีที่สุดคือการแปรรูปและนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” คุณวรวิทย์กล่าว
ส่วนขยะที่บริษัทได้นำมาแปรรูปประกอบด้วยขยะประเภท, พลาสติก, กระดาษ และผ้า เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง และมีเครื่องจักรคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ อาทิ กากอินทรีย์, เศษหินดินทราย เป็นต้น โดยกากอินทรีย์ บริษัทจะมีการจัดการโดยนำมาหมักทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนเศษหินดินทราย บริษัทจะมีการจัดการโดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซิเมนต์
{gallery}Biz_Interview/2014/bfi_022/tpipl/Photo{/gallery}
ด้านกระแสตอบรับจากการดำเนินการโครงการนี้ บริษัทมองว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทได้ตั้งไว้ และได้มีการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีต่อชุมชนโดยรอบโครงการ อีกทั้งบริษัทยังได้รับกระแสตอบรับจากชุมชนรอบโรงงานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยรอบพื้นที่โรงงาน
รวมทั้ง ยังได้รับความสนใจและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในการเข้ามาเยี่ยมชมกระบวนการจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน โดยถือว่าเป็นการเผยแพร่กระบวนการทำงาน ประสบการณ์ และวิธีการดำเนินการจัดการขยะที่ดีของบริษัทให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อีกด้วย
คุณวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน นอกจากจะนำพลังงานไฟฟ้าเพื่อมาใช้ภายในโรงงานแล้ว บริษัทยังมีทำสัญญาจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. โดยในขณะนี้ โรงไฟฟ้า ขนาด 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องจักร คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ได้ภายในปลายปีนี้
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าขนาด 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเตรียมส่งขายให้กับ กฟภ. ในช่วงสิ้นปีนี้ นอกจากโครงการนี้แล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 60 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนกว่า 3,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการติดตั้งเครื่องจักร 2,000 ล้านบาทและที่เหลืออีกกว่า 1,500 ล้านบาท จะเป็นงบลงทุนในการก่อสร้างและการวางระบบต่างๆ
ล่าสุด มีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วกว่า 60% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายให้กับ กฟภ. ได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 และทั้งสองโครงการนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 5 ปี โดยการคืนทุนจะขึ้นอยู่ปัจจัยของปริมาณในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้และปริมาณขยะที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากนี้ เรายังอยู่ระหว่างการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงหลักจากขยะและความร้อนทิ้ง โดยได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาและคัดเลือกซัพพลายเออร์เครื่องจักรและสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 3 ปีจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้” คุณวรวิทย์กล่าว
คุณวรวิทย์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น บริษัทยังมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการติดตั้งสายพานลำเลียงวัตถุดิบจากหน้าเหมือง โดยสายพานมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่องจักร คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการติดตั้งสายพานเพิ่มในเหมืองอีกแห่งหนึ่ง โดยมีความยาวของสายพานประมาณ 5 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงกลางปี 2558
“การดำเนินการโครงการนี้ เราเรียกว่า Downhill Conveyor ซึ่งเป็นการขนหินลงมาจากที่สูงผ่านสายพานและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถนำมาปั่นไฟและผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณวันละ 20,000 หน่วยหรือปีละประมาณ 6 ล้านหน่วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เราเป็นบริษัทแรกที่ใช้เทคโนโลยีสายพานลำเลียงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย และเรามั่นใจว่าเรามีขนาดกำลังการผลิตที่มากที่สุดในเอเชียอีกด้วย” คุณวรวิทย์กล่าว
เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ประกาศศักยภาพ คว้า 2 รางวัล CSR-DIW 2014
คุณศุภโชค เลียมแก้ว ประธาน บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด เปิดวิสัยทัศน์ให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารบิส โฟกัส ในโอกาสโรงงาน PP ได้รับรางวัล CSR-DIW Continuous และโรงงาน PDH ได้รับรางวัล CSR-DIW จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนี้
Biz Focus : รายละเอียดของรางวัลที่ได้รับในปีนี้
คุณศุภโชค : บริษัทได้รับ 2 รางวัลในปีนี้ คือ CSR-DIW Award ประจำปี 2557 สำหรับโรงงาน PDH และ CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2557 สำหรับโรงงาน PP จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพโรงงานมุ่งสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน
Biz Focus : บริษัทมีการบริหารงานอย่างไรจึงประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลดังกล่าว
คุณศุภโชค : บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ระบุไว้ในค่านิยมองค์กร (Core Value) คือ HMC H - Highest ethical standards and integrity M - Mutual respect & trust C - Commitment to health, safety, environment & social responsibility ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากล (ISO 26000) โดยได้นำมาถ่ายทอดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ด้านการศึกษาและเยาวชน 2.ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3.ด้านกีฬา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น 4.ด้านสังคมและชุมชน
ในแต่ละปี ฝ่ายกิจการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมคิดและวางแผนในการดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 ด้านให้ครอบคลุมทุกมิติของสังคม มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสังคมที่มาจากผู้แทนของทุกหน่วยงานในองค์กร เพื่อร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายไปสู่การดำเนินการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทถือเป็นใบอนุญาตจากสังคมให้ได้ร่วมดูแล ห่วงใย ใส่ใจ แบ่งปัน และเพิ่มคุณค่าต่อสังคม
Biz Focus : รางวัลที่ได้รับมีความสำคัญอย่างไรกับบริษัท
คุณศุภโชค : บริษัทมีโรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงาน PP ผลิตตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงงาน PDH ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) โดยโรงงาน PP ได้เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2553 และได้รับรางวัลดังนี้ 1.CSR-DIW Award ประจำปี 2553 2.CSR-DIW Continuous Award และ CSR-DIW Network Award ประจำปี 2554 3.CSR-DIW Continuous Award และ CSR-DIW Supply Chain Award ประจำปี 2555 4.CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2556 และ 5.CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2557
สำหรับในปี 2557 นี้บริษัทได้นำโรงงาน PDH เข้าร่วมโครงการเช่นกัน และได้รับรางวัล CSR-DIW Award ประจำปี 2557 เช่นกัน ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจ โดยเป็นโรงงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครือข่ายในการร่วมดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสู่บริษัทลูกค้า (Eastern Polypack) และบริษัทใน supply chain เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และผู้จัดหาวัตถุดิบของบริษัทต่อไป
Biz Focus : ประโยชน์ที่ได้รับจากรางวัลดังกล่าว
คุณศุภโชค : บริษัทได้เรียนรู้เรื่องแนวปฏิบัติหลัก 7 หัวข้อ เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.สิทธิมนุษยชน 3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินอย่างเป็นธรรม 6.ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7.การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแต่ละหัวข้อล้วนมีความสอดคล้องต่อการดำเนินการของทุกฝ่ายในองค์การ ไม่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้สอดคล้องและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ มลภาวะ ต่อสังคมและลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ ตลอดจนชื่อเสียงของบริษัทที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและลูกค้า รวมถึงความภาคภูมิใจของพนักงานต่อบริษัทอีกด้วย
Biz Focus : บริษัทมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อที่จะได้มาซึ่งรางวัลในปีต่อๆ ไป
คุณศุภโชค : บริษัทมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมโครงการผู้ประกอบการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการขององค์กรสอดคล้องต่อหลักปฏิบัติสากล และพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรไปสู่เป้าหมายหลักของความยั่งยืนที่พร้อมในทุกๆ มิติ อีกทั้งยังมีการทบทวนนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้สอดคล้องและครอบคลุมกับทุกบริบท ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนโยบายกลุ่ม ปตท. โครงการ PTT Group Sustainability Management เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรในกลุ่มปตท. ขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการขยายผลการดำเนินงานไปสู่มาตรฐานสากล (ISO26000) และตั้งเป้าหมายที่จะได้รับรางวัล Total Quality Award ในปี 2561 อีกด้วย
พีอีเอ เอ็นคอมเปิดยุทธศาสตร์การลงทุนปี 57-58
พีอีเอ เอ็นคอมเดินหน้า 6 เมกะโปรเจคปี 57 ตอบรับความสำเร็จครบรอบ 4 ปี ส่วนแผนปีหน้าเตรียมลงทุนอีก 3 โปรเจครุกธุรกิจพลังงานทดแทนทุกประเภททั้งในและต่างประเทศรับ AEC เต็มสูบ
คุณปัญญา เล่าชู รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ พีอีเอ เอ็นคอม (PEA ENCOM) บริษัทในเครือแห่งแรกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจครบรอบ 4 ปี โดยเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา และได้รับความเชื่อมั่นอย่างดีจากลูกค้าทั้งด้านคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินงานในด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเน้นส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้กับประเทศเพื่อให้สอดรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนยุทธศาสตร์การลงทุนในระยะเวลา 5 ปี (2557-2561) สำหรับในปี 2557 ประกอบด้วย 6 แผนการลงทุน ดังนี้
1. การร่วมทุนกับบริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ในโครงการโซล่าร์ฟาร์ม ภายใต้ชื่อ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สุรินทร์ 1 ) จำกัด ,บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สุรินทร์ 2) จำกัด, บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (เลย 2) จำกัด และบริษัท โซล่า เพาเวอร์ ( ขอนแก่น 10) จำกัด จำนวน 4 แห่ง ขนาดกำลังผลิตแห่งละ 7.46 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น 25% คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 165 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการ 2,640 ล้านบาท ขณะนี้ได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับคือเงินจากการลงทุน 10 ล้านบาท จากทั้งหมด 4 ไซต์ ในช่วงแรก (มิ.ย.-ธ.ค.2557)
2. การร่วมทุนกับบริษัท ปณวัฒน์ รีนิวเอเบิล จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สที่ได้จากการหมักน้ำเสีย ขนาด 5 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.กระบี่ มูลค่าการลงทุน 25 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต PPA เพื่อการสร้างโรงงานและขอใบ รง.4 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างไตรมาสแรกปี 2558 โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี สำหรับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับหลังจากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท/ปี
3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการนำร่องจะก่อสร้างที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ขนาด 3.8 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลอยู่และกำลังร่าง TOR ว่าจ้างผู้รับเหมา ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2558 และจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 18 เดือน โดยจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2559 สำหรับรายได้ที่จะได้รับจากโครงการนี้ประมาณ 178 ล้านบาท/ปี
4. โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำฮัม 2 ที่ สปป.ลาว โดยร่วมทุนกับการไฟฟ้า สปป.ลาวและเอกชนไทย กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตในเรื่องต่างๆ จากรัฐบาล สปป.ลาว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในสิ้นปีนี้ โดยจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า สปป.ลาว ส่วนรายได้ที่จะได้รับจากโครงการนี้ประมาณ 20 ล้านบาท/ปี
5. โครงการประหยัดพลังงาน โดยบริษัทจะเข้าไปดูแลอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากๆ ซึ่งจะสนับสนุนและแนะนำให้เปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อประหยัดพลังงาน เช่น การใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจะสร้างยอดขายให้ได้มากกว่า 20 ล้านบาทในปีนี้
6. โครงการฝึกอบรมวิศวกรรมทางด้านไฟฟ้าให้กับบุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โดยจะให้ความรู้ในด้านการจัดการเรื่องระบบไฟฟ้า การซ่อมบำรุง การให้การบริการ การตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่สนใจมาฝึกอบรมทั้งหน่วยงานเอกชนและภาครัฐใช้ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง โดยจัดอบรมเป็นรุ่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา การไฟฟ้าของประเทศภูฏาน ได้เข้ามาอบรมในโครงการดังกล่าวเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
ส่วนแผนการลงทุนในปี 2558 คุณปัญญากล่าวว่า โครงการแรกคือโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 6 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2558 งบลงทุนประมาณ 480 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง 3 ไซต์ ประกอบด้วย เชียงใหม่ จำนวน 9 เมกะวัตต์, ชลบุรี จำนวน 5 เมกะวัตต์ และสมุยจำนวน 2 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปีหน้า รวมทั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ อยู่ คาดจะสามารถก่อสร้างได้ในปีหน้า