กรมทางหลวงชนบทคว้ารางวัลเกียรติยศ “เลิศรัฐ”
กรมทางหลวงชนบทโชว์ศักยภาพความสำเร็จด้วยรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) ระดับดี พร้อมเผยแผนปี 63 มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคราชการมากยิ่งขึ้น
คุณประศักดิ์ บัณฑุนาค รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.)
คุณประศักดิ์ บัณฑุนาค รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในปีนี้กรมทางหลวงชนบท ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) ระดับดี ประจำปี 2562 ส่วนแนวทางการดำเนินการที่ส่งผลให้ได้รับรางวัลนี้ สืบเนื่องมาจาก ที่ผ่านมากรมทางหลวงชนบทได้ส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน จนกลายเป็นค่านิยมขององค์กร
รวมทั้ง การเข้าร่วมหลักสูตร Public Participation Spectrum ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยหลักสูตรนี้เป็นการสอนทฤษฎีการเปิดระบบราชการทุกสังคม และจึงมาประมวลประยุกต์เรื่องการปฏิสัมพันธ์ภาคประชาชน ซึ่งมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การแบ่งปันข้อมูล(Inform) 2. ปรึกษาหารือ (Consult) 3. การเข้ามาเกี่ยวข้อง (Involve) 4. การร่วมมือ (Collaboration) และ 5. เสริมพลังเพิ่มอำนาจ (Empower)
โดยทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นที่มาของการเปิดระบบราชการของกรมทางหลวงชนบทให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้ได้มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น โดยสิ่งที่จะได้รับคือ ทำให้ประชาชนเกิดประโยชน์สุข ได้สัญจรโดยที่อุบัติลดน้อยลง ซึ่งเป็นเป้าหมายจริงๆ ของการได้รางวัลนี้
สำหรับการเปิดระบบราชการของกรมทางหลวงชนบทให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม คือกระบวนการสร้างคุณค่า ซึ่งหน้าที่ที่ควรทำและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ 1. พึงสำนึกว่าบุคลากรทุกคนเป็นแค่เจ้าหน้าที่ของบริษัทประเทศไทยจำกัดที่มี 67 ล้านคนถือหุ้นจ้างมาทำงาน เบื้องต้นต้องสำนึกว่าเงินเดือนที่ได้รับมาจากประชาชน 2. ต้องระดมความคิดเพื่อให้ประชาชนได้มามีส่วนร่วม และหน่วยงานต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ 3. เน้นหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างสมดุลระหว่างผลผลิตหลัก กับผลผลิตของการสร้างคุณค่า
“จริงๆ เราไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวรางวัล แต่อยากให้มองที่กฎของกรมทางหลวงชนบทมากกว่า อยากให้เห็นว่าเราเปิดโครงการเพื่อที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งรางวัลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มาการันตีเท่านั้น แต่รางวัลที่เราอยากได้จริงๆ คือรางวัลจากประชาชน คือ คำที่ประชาชนบอกว่ากรมทางหลวงชนบททำงานมีคุณภาพ มีศักยภาพ นั่นคือสิ่งที่ต้องการจะได้ยินและจะช่วยให้มีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เหนือกว่าทุกรางวัล” คุณประศักดิ์กล่าว
คุณประศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2563 กรมทางหลวงชนบทวางแผนในการที่จะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยการเปิดเวทีประชาคมทุกโครงการที่มีการเซ็นสัญญาจ้างเหมาที่มูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียน ตลอดกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ก่อนดำเนินการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และภายหลังการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งทุกกิจกรรมจะเน้นจัดในวันหยุด เพื่อที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
ด้านเป้าหมายของกรมทางหลวงชนบทในอีก 2 ปีต่อจากนี้ที่จะต้องทำให้สำเร็จคือ เรื่องของภาพรวมในการบริหารที่ดี โดยจะดำเนินการในทุกๆ ด้านควบคู่กันไปจนสำเร็จไม่ใช่ผลักดันเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น รวมทั้ง เป้าหมายที่เป็นกระบวนงานหลักในการสร้างผลผลิต คือ 2 ปีต่อจากนี้ จะต้อง “ไม่เสีย ไม่ซ่อม” ดังนั้น จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการสื่อสาร เพื่อดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่ ที่ 3 คือต้องทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็งด้านงานก่อสร้างทางมากขึ้นกว่าเดิม
คุณประศักดิ์ กล่าวต่อถึงเรื่องที่อยากจะฝากว่า ทุกคนควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่นให้ได้ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการกับความคิดของตัวเอง หรือที่เรียกว่า มายด์เซ็ท (Mindset) โดยจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรมและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ เช่น การใช้รถใช้ถนน ซึ่งต่างคนต่างสนใจเพียงจุดหมายของตน โดยที่ทุกฝ่ายไม่ได้คำนึกถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน จริงๆ แล้ว ตนมองว่าทุกคนล้วนรู้เหตุผลทั้งหมดแต่สำคัญที่สุดคือการควบคุม ทั้งเรื่องความคิด การกระทำ ดังนั้นจึงควรที่จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันให้ได้เพื่อที่จะช่วยลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นบนท้องถนน
อนึ่ง ตามมาตรา 20 อนุ 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 กำหนดให้มีกรมทางหลวงชนบทในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยให้โอนกิจการ อำนาจ หน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังบางส่วน ที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างทางและสะพานจากกรมโยธาธิการ และจากกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท สังกัดกระทรวงมหาดไทย มารวมกันก่อตั้งเป็น “กรมทางหลวงชนบท” เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พุทธศักราช 2545 ตั้งแต่นั้นมา
โดยกระทรวง คมนาคมได้ออกกฎกระทรวง กำหนดให้กรมทางหลวงชนบทมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทาง หลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง ให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจ หน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางหลวงชนบทรวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 2. วิจัยและพัฒนางานก่อสร้างทาง บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงชนบท 3. จัดทำมาตรฐาน และข้อกำหนดทางหลวงชนบท ตลอดจนกำกับและตรวจสอบเพื่อให้มีการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานและข้อกำหนด 4. ฝึกอบรมและจัดทำคู่มือ ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับวิศวกรรมงานทางแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5. ร่วมมือและประสานงานด้านทาง กับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย จากขอบเขตอำนาจ หน้าที่ ดังกล่าว กรมทางหลวงชนบทได้ระดมความคิดเห็นของบุคลากรในองค์กรร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยมีวิสัยทัศน์ ดังนี้ “พัฒนา เพิ่มคุณค่า เติมต่อโครงข่ายทางให้สมบูรณ์ อย่างพอเพียงและยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน”