May 18, 2024

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ รับรางวัล “เลิศรัฐ”

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ รับรางวัล “เลิศรัฐ”

รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 "Shift to the future : ภาครัฐปรับ อนาคตเปลี่ยน” ในสาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น เรื่อง "ดนตรีบำบัดในการผ่าตัดสลายต้อกระจก (music therapy)" พร้อมประกาศความสำเร็จครบรอบ 32 ปีแห่งการก่อตั้ง บวกเปิดแผนการลงทุนปี 2563 เร่งเพิ่มศักยภาพให้ครอบคลุมทุกการบริการ

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 "Shift to the future : ภาครัฐปรับ อนาคตเปลี่ยน” สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น เรื่อง "ดนตรีบำบัดในการผ่าตัดสลายต้อกระจก (music therapy)" จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

โดยดนตรีบำบัดในการผ่าตัดสลายต้อกระจก (music therapy) เป็นดนตรีบรรเลงที่มีลักษณะเฉพาะ พบว่าสามารถลดความวิตกกังวล และความรู้สึกเจ็บของผู้ป่วยขณะรับการผ่าตัดสลายต้อกระจกได้จริง โดยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติยืนยันผลการรักษาด้วยตนตรีบำบัด รวมทั้ง มีการนำมาใช้ประโยชน์แล้วในผู้ป่วยกว่า 7,000 รายที่มารับการรักษาที่ศูนย์ต้อกระจกธรรมศาสตร์ ถือเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือประชาชนได้จริง

นอกเหนือจากความภาคภูมิใจแล้ว รางวัลดังกล่าวยังเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นบุคลากรในด้านการให้บริการ การรักษาแบบองค์รวม ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ต้นจนจบอย่างมีคุณภาพสม่ำเสมอ และเท่าเทียมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คงที่และดีที่สุด  ขณะเดียวกัน ยังเป็นตัวที่บ่งชี้ในด้านการพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ซึ่งสามารถขยายผลไปยังศูนย์เครือข่ายในชุมชน และระดับประเทศต่อไป

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติครบรอบ 32 ปีแห่งการก่อตั้ง พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 อย่างมั่นคง โดยเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ มุ่งเน้นในกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะ สามารถตอบโจทย์โรคหลักๆ ของประเทศได้ ซึ่งมีการให้บริการในศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ศูนย์หลักๆ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านหลอดเลือดสมอง, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิแพ้และหอบหืด, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านตา และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเท้าเบาหวาน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้มุ่งเน้นในเรื่องของการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเครือข่ายการปลูกถ่ายอวัยวะระดับประเทศ สำหรับโครงการที่ทำสำเร็จและมีออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนคือ การปลูกถ่ายไต  และการปลูกถ่ายไขกระดูก ส่วนในปี 2563 โรงพยาบาลจะมุ่งเน้นเรื่องการปลูกถ่ายหัวใจ และการปลูกถ่ายตับตามลำดับ รวมทั้ง ยังได้จัดตั้งศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ซึ่งถือเป็นศูนย์ที่ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

 “ตลอดระยะเวลา 32 ปี จะเห็นว่าโรงพยาบาลได้มีการพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งนอกเหนือจากการมุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ แล้ว โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติยังมีบทบทสำคัญในเรื่องการเรียนการสอน การวิจัยนวัตกรรม การเผยแพร่ไปสู่เครือข่ายระดับชุมชน และระดับประเทศอีกด้วย” รศ.นพ.พฤหัสกล่าว

ด้านแผนการดำเนินงานในปี 2563  โรงพยาบาลมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพยกระดับจากโรงพยาบาลขนาด 800 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียง พร้อมทั้ง มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. ด้านการแพทย์ มูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท เช่น การเปิดห้องผ่าตัดแบบอัจฉริยะ เป็นการผ่าตัดระบบไฮดรอลิก โดยงบลงทุนทั้งตัวเครื่องและห้องผ่าตัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในวันที่ 1 มีนาคม 2563 สำหรับวัตถุประสงค์การลงทุนในครั้งนี้เพื่อตอบสนองการดูแลรักษาโรคที่มีความซับซ้อนสูง เช่น โรคหัวใจและโรคด้านสมอง เป็นต้น

2. ด้านสารสนเทศ โดยโรงพยาบาลจะมุ่งเน้นทำแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกสบายเมื่อเข้ามารับบริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งในแต่ละปีโรงพยาบาลจะงบลงทุน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในปี 2563 งบการลงทุนด้านสารสนเทศอาจจะเพิ่มขึ้นซึ่งอยู่ระหว่าง 50-100 ล้านบาท เนื่องจากสารสนเทศแบ่งออกเป็นหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความสะดวกสบายของผู้ที่มาใช้บริการ และด้านการนำข้อมูลเผยแพร่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงทุนนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของข้อเข่า เป็นหลัก โดยใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถตอบสนองนโยบายของโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ มีความแม่นยำสูง และลดอัตราการบาดเจ็บข้างเคียง ซึ่งช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน โรงพยาบาลยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารชวนชูชาติ ซึ่งเป็นอาคารห้องปฏิบัติการ และรังสีวินิจฉัย โดยประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการด้านโลหิตวิทยา ห้องปฏิบัติการด้านการตรวจโดยเฉพาะ และอื่นๆ ซึ่งห้องปฏิบัติการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการดูแลรักษาคนไข้แบบเฉพาะเจาะจง หรือรักษาคนไข้แบบเหมาะสมในแต่ละรายมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยมีมูลค่าการก่อสร้าง 300 ล้านบาท

Page Visitor

010755455
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1277
6107
35041
102171
147900
10755455
Your IP: 18.224.96.239
2024-05-18 06:33
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.