กรมเชื้อเพลิงฯ มุ่งภารกิจจัดหาแหล่งพลังงาน เสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินหน้าแผนปี 2564 ตามภารกิจการส่งเสริมและเร่งรัดสำรวจพัฒนา และผลิตปิโตรเลียม สอดรับนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมเผยแนวโน้มการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในอนาคต จะเป็นความท้าทายใหม่ของการดำเนินงาน
ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ และโฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ และโฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมฯ เรามีภารกิจสำคัญในการเน้นการส่งเสริมและเร่งรัดสำรวจพัฒนา และผลิตปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ในด้านการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ที่ผ่านมากรมฯ พยายามพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบุคลากร เนื่องจากงานที่กรมฯ ทำเป็นงานสำคัญของประเทศ ฉะนั้น บุคลากรของเราต้องเก่ง มีศักยภาพ และพร้อมที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานหลายๆ เรื่อง ซึ่งถือเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน อย่างเช่นการพัฒนาแอปพลิเคชันมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้กระบวนการทำงานมีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวถึงการดำเนินงานในปี 2564 ว่า ในปีนี้เราได้มีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 23 ซึ่งก่อนหน้านี้กรมฯ มีแผนจะเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอไปก่อนในขณะนั้น รวมถึงยังมีแผนดำเนินการในส่วนของแปลงที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน แต่ยังมีปิโตรเลียมบางส่วนที่สามารถพัฒนาและผลิตเพิ่มได้มาเปิดประมูลให้ยื่นขอสิทธิ์อีกรอบ
ขณะเดียวกัน สำหรับแปลงที่อัตราการผลิตเริ่มลดลง หรือเริ่มหมด กรมฯ ยังมีแผนดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอ่าวไทยที่มีการผลิตมานานถึง 40 ปี เพื่อไม่ให้กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางทะเล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มรื้อถอนในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 นอกจากนี้ ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบสัญญา PSC (Production Sharing Contract) ในแปลงสำคัญของไทย ให้เป็นระบบ PSC ทั้งหมดในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมาเรากำกับดูแลในระบบสัมปทานเท่านั้น ซึ่งหากกรมฯ เริ่มเข้าสู่ระบบ PSC อาจต้องดูในเรื่องของแนวทางการกำกับดูแลภายใต้ระบบนี้ รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งนี่ก็ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกรมฯ ด้วย
สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในอนาคต ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวว่า หากมองในระยะสั้น ในช่วงไม่เกิน 10 ปี แน่นอนว่าประเทศไทยยังต้องพึ่งพาปิโตรเลียมเป็นหลัก โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งปิโตรเลียมแบ่งตามสถานะในธรรมชาติได้ 2 ชนิด คือ น้ำมันดิบ (Crude Oil) และก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ที่ถูกนำมากลั่นเพื่อใช้ในภาคขนส่ง ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นในระยะสั้นนี้มันยังสามารถไปต่อได้อยู่
แต่ขณะเดียวกันหากมองไปในระยะยาว แนวโน้มการใช้ปิโตรเลียมอาจน้อยลง ผู้คนจะหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหลายภาคส่วนก็เริ่มมีการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นแล้ว โดยที่เห็นได้ชัดเจนคงจะเป็นเรื่องของรถไฟฟ้า (EV) หากในอนาคตผู้คนหันไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น การใช้น้ำมันก็ต้องลดลง ซึ่งก็จะกระทบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ราคาต่ำอยู่ตลอด ผู้ลงทุนไม่ก็เกิดแรงจูงใจในการลงทุนหรือสำรวจต่อ
“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ไม่ได้มีแหล่งน้ำมันมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก็ยังพอไปได้อยู่ เพราะว่ารถ EV เองก็ต้องการไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้ามันก็มาจากก๊าซธรรมชาติ มาจากถ่านหิน แต่ในอนาคตไปอีกก็อาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เพราะว่าโซลาร์ก็ค่อนข้างมาแรง ทั้งนี้ สำหรับกรมฯ ในอนาคต หลายๆ เรื่องก็ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของเรา ทั้งปัจจัยในเรื่องของนโยบายภาครัฐที่อาจเน้นหนักในเรื่องของพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน รวมถึงแหล่งในประเทศก็เก่า และเริ่มหมด ประกอบกับปัจจัยภายนอกต่างๆ อย่างการคัดด้านของประชาชน เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายการทำงานของกรม ซึ่งเราก็ต้องหารือ และวางแผนเพื่อการดำเนินงานในอนาคตต่อไป” ดร.ศุภลักษณ์กล่าว