November 22, 2024

อจน. ชูความสำเร็จได้รับผลการประเมิน ITA สูงกว่าปีที่ผ่านมา

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

อจน. ชูความสำเร็จได้รับผลการประเมิน ITA 96.39 คะแนน ในระดับ AA สูงกว่าปีที่ผ่านมา

องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เดินเครื่องต่อยอดการดำเนินงาน เร่งแก้ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม หลังรับนโยบาย ครม. ให้ขยายขอบเขตและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเสียให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด รับอีกหนึ่งความสำเร็จผลการประเมิน ITA อยู่ในระดับ AA ที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 96.39 ตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินงานครบรอบ 26 ปี

คุณชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย

คุณชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย หรือ อจน. กล่าวว่า ในปี 2564 อจน. มีแผนการดำเนินงานโดยคงความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ตามกรอบระยะเวลา 20 ปี ในการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมที่ยังมีอยู่ถึง 780 แห่ง ซึ่งการดำเนินงาน อจน. จะใช้วิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยการก่อสร้าง โดยจะมีลักษณะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินเพื่อช่วยในการประหยัดพื้นที่ก่อสร้าง และสามารถใช้พื้นที่บริเวณด้านบนให้เกิดประโยชน์ รองรับกิจกรรมการออกกำลังกายของประชาชน ซึ่งปัจจุบัน อจน. ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 25 แห่ง และตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถพัฒนาได้ 20-25 แห่งต่อปี

อย่างไรก็ตาม การบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพและเร็วที่สุด นอกจากการดำเนินงานจาก อจน. แล้ว ยังต้องทำควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างการทำถังดักไขมันที่ถือเป็นการบำบัดในภาคครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง แม้การบำบัดดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น แต่สามารถลดความสกปรกของน้ำลงได้ ซึ่งหากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในจุดนี้ ก็จะทำให้คุณภาพน้ำในคลองมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น อีกทั้งจะทำให้การบำบัดน้ำเสียในปลายทางรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย

“การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นแผนการดำเนินงานที่สำคัญอย่างหนึ่งในปีนี้ ซึ่งเรามีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าไปสร้างความเข้าใจในพื้นที่และให้ความรู้กับครัวเรือนต่างๆ ด้วยการจัดอบรมการทำถังดักไขมัน การดูแลรักษาถังดักไขมัน และวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง รวมทั้งการทำคลองต้นแบบ เราเชื่อว่าหากสามารถเริ่มจากทุกคนได้ จะสามารถลดความสกปรกของน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลองดีขึ้น สภาพแวดล้อมของชุมชน สังคมจะน่าอยู่ และที่สำคัญสุขภาพและความเป็นอยู่ประชาชนก็จะดีขึ้นด้วย” คุณชีระกล่าว

นอกจากนี้ อจน. ยังเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ อย่างเช่น เกาะพีพี ที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียได้ ทำให้ อจน. ต้องเร่งเข้าไปปรับปรุงฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อดำเนินการเสร็จ นอกจากจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในอนาคตด้วย เช่นเดียวกับในพื้นที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมของแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังน่าเป็นห่วง อจน. จึงต้องเน้นดำเนินงานเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามแผนด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน และเพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพที่ดี และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

“สิ่งที่แตกต่างในปีนี้ในแง่ของการดำเนินงานคือ เรื่องการประชาสัมพันธ์องค์กรให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ อจน. ดำเนินงานแค่บางพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียของ อจน. ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายบำบัดน้ำเสียจากชุมชนให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งชุมชนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ฉะนั้น สิ่งที่ อจน. ต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือการสร้างการรับรู้ต่อประชาชน ให้เข้าใจการดำเนินงานและหน้าที่ขององค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อที่ในอนาคต อจน. จะปฏิบัติภารกิจได้ง่ายขึ้น” คุณชีระกล่าว

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเสียในปัจจุบัน อจน. ได้พัฒนามาตรฐานการบำบัดน้ำให้ดีขึ้นมาโดยตลอด โดยมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเพื่อวิเคราะห์หาเชื้อโรค และสารปนเปื้อนต่างๆ แม้บางคนอาจคิดว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดยังไม่มีคุณภาพมากพอ แต่ความเป็นจริงแล้วทุกกระบวนการของ อจน. มีมาตรฐานและสามารถทำให้น้ำที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพและใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ในจุดนี้จึงต้องมีการร่วมมือกับสถานศึกษาและหน่วยงานสำคัญในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม น้ำที่ผ่านการบำบัดตามกระบวนการขั้นตอนแล้ว จะถูกนำไปเก็บเป็นน้ำสำรอง เมื่อเกิดขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการเกษตรกรรมและอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป

คุณชีระ กล่าวว่า ในการดำเนินงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อจน. ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น ทำให้สามารถดำเนินงานได้ทุกที่อย่างราบรื่น ส่วนในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานแต่ละฝ่ายก็มีการแบ่งความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมจึงไม่เป็นผลกระทบมากนัก อีกทั้งที่ผ่านมา อจน. มีมาตรการที่พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อให้การดำเนินงานบำบัดน้ำเสียของประเทศได้รับการพัฒนาและแก้ไขต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อจน. ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ด้วยคะแนน 96.39 ในระดับ AA ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ในลำดับที่ 13 จากรัฐวิสาหกิจที่เข้ารับการประเมินจำนวน 51 แห่ง โดยเป็นการประเมินจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในงาน “ITA DAY 2021: More Open, More Transparent” ที่มีหน่วยงานภาครัฐร่วมประเมินทั้งหมด 8,300 หน่วยงาน ภายใต้การประเมินทั้งสิ้น 10 ด้าน

การประเมินดังกล่าวนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งขององค์การจัดการน้ำเสีย ในการนำผลการประเมิน ITA ที่ได้ไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงพัฒนาองค์กรในปีงบประมาณถัดไปให้สมบูรณ์ครบถ้วนทุกมิติ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้องค์กรมีความโปร่งใสตามกรอบการประเมิน ITA และในแง่การพัฒนาคุณธรรมการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการสาธารณะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม องค์การจัดการน้ำเสีย หรือ อจน. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2538 ปัจจุบันดำเนินงานจนครบรอบ 26 ปี ด้วยภารกิจหน้าที่ในการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม สำหรับการบำบัดน้ำเสียภายในเขตพื้นที่ และการให้บริการ รับบริหาร หรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งในและนอกเขตพื้นที่ รวมทั้งมีหน้าในการบริหารหรือดำเนินการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ พร้อมความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินงานภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดี ควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

www.wma.or.th

Page Visitor

012543357
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
16343
18787
104650
351148
432245
12543357
Your IP: 18.226.214.91
2024-11-22 19:14
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.